แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดพลาดในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำเมื่อเลิกจ้างเกิดขึ้น เพราะนายจ้างใช้บทกฎหมายเกี่ยวกับค่าชดเชยไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ของค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แล้ว นายจ้างก็หักเงินบำเหน็จที่จ่ายให้ลูกจ้างรับไปแล้วออกจากจำนวนค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าวได้
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจกท์ 5,485 บาท แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจกท์อุทธรณ์เป็นใจความว่า เงินบำเหน็จ 27,425 บาทที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์นั้นเป็นเงินประเภทอื่น ไม่ใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงนำเงินบำเหน็จมาหักกับค่าชดเชยไม่ได้ จะต้องจ่ายค่าชดเชย 32,910 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าข้อบังคับ อสร. ที่ 1/2508 ว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญผู้อำนวยการและพนักงาน อสร. พ.ศ. 2508 ข้อ 3 มีความว่า “ให้ใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 ของกระทรวงการคลัง แก่ผู้อำนวยการและพนักงานของ อสร. โดยอนุโลม และถ้าทางราชการมีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงระเบียบดังกล่าวนี้เมื่อใด ก็ให้อนุโลมใช้ตามเช่นเดียวกัน” และคณะรัฐมนตรีได้วางระเบียบการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้างไว้เมื่อ พ.ศ. 2502 ซึ่งแก้ไขโดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2511 ระเบียบดังกล่าวนี้ ข้อ 4 มีความหมายว่า “ลูกจ้างประจำผู้ใดทำงานมาเป็นเวลาต่อเนื่องกัน จะได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ ถ้าต้องออกจากงานเพราะ (1) มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว ฯลฯ” ข้อ 5 มีความว่า “เงินบำเหน็จซึ่งให้แก่ลูกจ้างซึ่งออกจากงานตามข้อ 4 มีจำนวนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีเวลาทำงาน
เวลาทำงานสำหรับคำนวณเงินบำเหน็จ ให้นับแต่จำนวนปี เศษของปีถ้าถึงหกเดือนให้นับเป็นหนึ่งปี
ในกรณีลูกจ้างประจำผู้ใดมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดงานของลูกจ้าง การใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้างและการจัดให้มีสวัสดิการเพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ แต่ถ้าเงินชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะพึงได้รับตามระเบียบนี้เท่าใดก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับส่วนที่ต่ำกว่านั้น” การที่ระเบียบดังกล่าวระบุถึง “เงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยกำหนดเวลาทำงาน ฯลฯ” ก็เพราะระเบียบดังกล่าวได้วางไว้ในระหว่างที่ยังใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดเวลาทำงานวันหยุดงานของลูกจ้าง การใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้างและการจัดให้มีสวัสดิการเพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งประกาศดังกล่าวข้อ 27 มีความว่า “ในกรณีที่เป็นการจ้างโดยไม่มีกำหนดเวลาถ้านายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน และลูกจ้างนั้นได้ทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นายจ้างต้องชี้แจงเหตุผลให้ลูกจ้างทราบ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างที่ได้รับอยู่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งมิใช่ลูกจ้างชั่วคราวออกจากงาน และลูกจ้างนั้นได้ทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่ถึงร้อยแปดสิบวัน นายจ้างต้องชี้แจงเหตุผลให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน มิฉะนั้นต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างนั้นเท่ากับค่าจ้างที่ได้รับอยู่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ฯลฯ” ดังนี้จะเห็นได้ว่า “เงินชดเชย” ตามประกาศฯ ดังกล่าวนั้นก็คือ “ค่าชดเชย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งออกมาในภายหลังนั่นเอง โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2518 ประกาศซึ่งมีผลบังคับอย่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องค่าชดเชยที่ใช้อยู่ในเวลาที่โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างนั้น ได้แก่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 46 และ 47 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศฯ (ฉบับที่ 2 ) ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 ที่มีแก้ไขนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจะต้องพิจารณากรณีของโจทก์ตามหลักเกณฑ์ของเงินบำเหน็จในระเบียบนั้น กับหลักเกณฑ์ของค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวแล้วด้วยทั้ง 2 อย่างประกอบกัน ถ้าพิจารณาแล้วปรากฏว่าโจทก์จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับหรือสูงกว่าเงินบำเหน็จจำเลยก็จ่ายแต่ค่าชดเชยให้ หากปรากฏว่าค่าชดเชยที่โจทก์จะได้รับนั้นต่ำกว่าเงินบำเหน็จ จำเลยก็จ่ายค่าชดเชยบวกด้วยเงินบำเหน็จตามจำนวนที่ค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จ ที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ในเวลาเลิกจ้างเป็นเงิน 27,425 บาท นั้น ย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยพิจารณาหลักเกณฑ์ของเงินบำเหน็จกับหลักเกณฑ์ของเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดเวลาทำงานฯ ประกอบกัน จึงเห็นว่าเงินบำเหน็จที่โจทก์จะได้รับนั้นมีจำนวนสูงกว่าเงินชดเชย จำเลยจึงจ่ายค่าชดเชยบวกด้วยเงินบำเหน็จจำนวนที่ค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จ ผลก็เป็นเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ได้รับเงินบำเหน็จแต่อย่างเดียวนั่นเอง จำเลยจึงเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ ความผิดพลาดในการจ่ายเงินให้แก่โจทก์นี้เกิดขึ้นเพราะจำเลยใช้บทกฎหมายเกี่ยวกับค่าชดเชยไม่ถูกต้องเท่านั้น ถ้าจำเลยได้พิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ของค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวแล้วข้างต้น จำเลยก็ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์อีก 5,485 บาท และเรียกชื่อที่ถูกต้องว่า “ค่าชดเชย” ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”
พิพากษายืน