คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การห้ามจ่ายเงินตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 2 ออกตาม พ.ร.บ.กักคุมตัวและจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นสัตรูต่อสหประชาชาติ 2488 นั้น มิใช่เรื่องในหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมและจัดทรัพย์สินเป็นการฝ่าฝืนหลักกฎหมายทั่วไปของบ้านเมืองโดยไม่มีพระราชบัญญัติให้อำนาจทำเช่นนั้น หรือให้อำนาจออกกฤษฎีกาเช่นนั้น ถ้าจะตีความว่า ก.ท.ส.มีอำนาจงดการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หรือชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่อาจถูกยึดหรืออายัติทรัพย์ตามคำสั่งศาลแล้ว ก็จะเป็นการผิดพลาดตามนัยฎีกาที่ 1255/2493

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นอายัติเงินที่จำเลยรวบรวมฝากธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ตามคำร้องของโจทก์ ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระราคาเรือที่ถูกจำเลยยึดไปให้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งอายัติเงินนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า อำนาจเข้าควบคุมกิจการหรือทรัพย์สินตาม ม.๗ แห่งพ.ร.บ. ว่าด้วยการกักคุมตัวและการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นสัตรูต่อสหประชาชาติ ๒๔๘๘ นั้น คือการเข้าจัดการงานแทนบุคคลนั้น ฯลฯ ปรากฎหลักเกณฑ์และวิธีการในพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ ๑ ส่วนข้อความใน ม.๖ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ ๒ ว่า “ในการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินตามความในพระราชกฤษฎกีกานี้ให้คณะกรรมการรักษาเงินที่ได้จากการนั้นไว้ และในระหว่างที่ยังมิได้มีความตกลงกับสหประชาชาติในเรื่องนี้ ห้ามมิให้จ่ายเงินดังกล่าวเว้นแต่ค่าใช้จ่ายดังบัญญัติไว้ใน ม.๕ ” นั้น การห้ามจ่ายเงินไม่ใช่เรื่องในหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมและจัดทรัพย์สิน และจะเป็นการฝ่าฝืนขัดขืนต่อหลักกฎหมายในบ้านเมือง โดยไม่มี พ.ร.บ.ให้อำนาจเช่นนั้นหรือให้อำนาจที่จะออกพระราชกฤษฎีกาเช่นนั้น ถ้าจะตีความให้ ก.ท.ส.มีอำนาจงดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หรือชำระหนี้ตามคำพิพากษา หรือไม่อาจถูกยึดหรืออายัติทรัพย์ตามคำสั่งศาลก็เป็นการผิดพลาด (อ้างฎีกา ๑๒๕๕/๒๔๙๓ บริษัทไทยนิธิ โจทก์คณะกรรมการ ก.ท.ส. จำเลย) พิพากษายืนยกฎีกาจำเลย

Share