คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความหมายของคำว่า “ในทางการที่จ้าง” มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างมาเท่านั้น หากแต่เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้จะเป็นเวลา 2 นาฬิกา นอกเวลาทำงานปกติและ ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปเที่ยว ก็ถือได้ว่า ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของ ว. นั้นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 551,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 389,036.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 พฤษภาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของนายวิศวะ ที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า นายวิศวะขับรถยนต์กระบะยี่ห้อฟอร์ด หมายเลขทะเบียน บต 9370 ปทุมธานี คันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 อันทำให้จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาหรือไม่ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มอบรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุดังกล่าวให้นายวิศวะ ใช้ในขณะไปทำการควบคุมงานที่บริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) สาขาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 แต่นายวิศวะก็จะต้องนำรถยนต์กระบะดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามที่จำเลยที่ 3 มอบหมายหรือใช้ในระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ตามพฤติการณ์ที่ควรจะเป็น เนื่องจากขณะเกิดเหตุพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้นายวิศวะส่งมอบรถยนต์กระบะดังกล่าวและกุญแจรถคืนแก่จำเลยที่ 3 ภายหลังเวลาเลิกงานได้ การที่นายวิศวะนำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปใช้เที่ยวเตร่สถานบันเทิงและเชิงชู้สาวภายหลังจากเลิกงานแล้วนานถึง 9 ชั่วโมง จึงเป็นการกระทำในเรื่องส่วนตัวของนายวิศวะโดยแท้ไม่เกี่ยวกับการทำงานตามที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้าง จำเลยที่ 3 ไม่จำต้องร่วมรับผิดด้วยแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ตามทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าขณะจำเลยที่ 3 มอบรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวให้นายวิศวะนำไปใช้ขณะไปทำการควบคุมงานที่จังหวัดสงขลาตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 ได้มีการกำหนดให้นายวิศวะนำรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ใด อย่างไร หรือมีการมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลเก็บรักษารถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ ภายหลังเวลาเลิกงานแล้ว แต่อย่างใด ทั้งตามคำเบิกความของนายทวี ผู้จัดการแผนกของบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) พยานจำเลยที่ 3 ที่ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ตลอดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง พยานเห็นนายวิศวะใช้รถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน บต 9370 ปทุมธานี ในการรับส่งพนักงานและขนส่งสินค้าด้วย ตามคำเบิกความของนายทวีดังกล่าว นายวิศวะซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานที่จังหวัดสงขลาตามคำสั่งจำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิปฏิบัติงานนอกเวลาในเวลากลางคืนได้ และตามพฤติการณ์ระหว่างจำเลยที่ 3 กับนายวิศวะดังกล่าวเท่ากับจำเลยที่ 3 มอบรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุให้นายวิศวะเป็นผู้ครอบครองใช้และเก็บรักษารถภายหลังเลิกงานโดยสามารถนำรถออกปฏิบัติงานได้ตลอดเวลาของการทำงานที่จังหวัดสงขลา อันถือได้ว่า จำเลยที่ 3 ยินยอมให้นายวิศวะนำรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปใช้งานได้ตลอดเวลาแม้ในเวลากลางคืนนอกเวลาทำงานตามปกติข้อที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 มอบหมายให้นายวิศวะไปทำการควบคุมงานที่จังหวัดสงขลาซึ่งอยู่คนละจังหวัดกับสถานประกอบกิจการค้าของจำเลยที่ 3 ทำให้ไม่เปิดช่องที่จะให้นายวิศวะส่งมอบรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุและกุญแจรถคืนแก่จำเลยที่ 3 ภายหลังเวลาเลิกงานได้ ก็หาใช่เหตุจะอ้างเอาเป็นข้อปัดความรับผิดได้ไม่ เพราะเป็นเรื่องภายในระหว่างพนักงานของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 3 ที่สามารถกำหนดมาตรการในการควบคุมดูแลการใช้รถนอกเขตสถานประกอบกิจการของจำเลยที่ 3 ได้ ที่สำคัญความหมายของคำว่า “ในทางการที่จ้าง” มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างมาเท่านั้น หากแต่เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้วหลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้จะเป็นเวลา 2 นาฬิกา นอกเวลาทำงานปกติและนายวิศวะขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปเที่ยว ก็ถือได้ว่านายวิศวะขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของนายวิศวะนั้นด้วยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ

Share