แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9 และมาตรา 11 เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว โจทก์จะเป็นพนักงานของจำเลยไม่ได้เพราะขาดคุณสมบัติ แต่จำเลยจะต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง ไปด้วย การที่โจทก์ออกจากงานเพราะถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้าง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ออกจากงาน โดยผลของกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47 จำเลยจึงต้อง จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามข้อบังคับของจำเลย เงินสงเคราะห์เป็นเงินที่จ่ายเพื่อ ช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานที่ออกจากงาน มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การจ่ายแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชย จึงเป็นเงินประเภทอื่น ไม่อาจถือได้ว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์ มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนับแต่วันออกจากงานทันที เมื่อจำเลยไม่ชำระ ให้แก่โจทก์ก็ได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่นั้น จึงต้องเสีย ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 47,280 บาทและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 8,930 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย นับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะโจทก์ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานเป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมาย ไม่ใช่ออกจากงานเพราะการเลิกจ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและกรณีเช่นนี้จำเลยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ของจำเลยแล้ว ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยถือว่าเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และโจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์ไปเป็นจำนวนมากกว่าเงินค่าชดเชยที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยให้ชำระเงินตามฟ้อง จำเลยจึงมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด ไม่จำต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
วันนัดพิจารณา โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างเพราะขาดคุณสมบัติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2532 ข้อบังคับของจำเลยปรากฏตามเอกสารหมายเลข 2 เมื่อโจทก์ออกจากงานแล้ว โจทก์ได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์จำนวน 86,680 บาท จากจำเลย และศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2532 (ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้) แล้วโจทก์จำเลยต่างไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 47,280 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่แก้ไขแล้วเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว โจทก์จะเป็นพนักงานของจำเลยไม่ได้ เพราะขาดคุณสมบัติ การออกจากงานของโจทก์จึงเป็นไปโดยผลของกฎหมาย ไม่ใช่ออกจากงานเพราะเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง แม้โจทก์จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วก็ตาม แต่จำเลยจะต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งไปด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ออกจากงานเพราะถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ออกจากงานโดยผลของกฎหมายไม่เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า จำเลยได้จ่ายเงินสงเคราะห์ให้โจทก์แล้วเป็นจำนวนมากกว่าค่าชดเชย ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2523 ข้อ 8 ให้ถือว่าการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2523 เงินสงเคราะห์เป็นเงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานที่ออกจากงาน มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 จึงเป็นเงินประเภทอื่นไม่อาจถือได้ว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ยังไม่ได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่ากรณีหนี้ค่าชดเชยเป็นหนี้เงินเมื่อจำเลยให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนับแต่วันออกจากงานทันที เมื่อจำเลยไม่ชำระให้แก่โจทก์ก็ได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่นั้น…”
พิพากษายืน.