แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้น ย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง” จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดสิทธิในการเลิกสัญญาไว้ 2 ประการ คือ โดยข้อสัญญาหรือโดยกฎหมายให้อำนาจไว้ เมื่อสัญญาเช่าบ้านไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนสัญญาเช่าถึงกำหนดโดยข้อสัญญาได้ โจทก์จึงต้องอาศัยสิทธิการบอกเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้โจทก์จะขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากบ้านเช่าพร้อมกับทำหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบ ก็มิใช่เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านกับจำเลยได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมตกลงเลิกสัญญาเช่าบ้านกับโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านแต่เพียงฝ่ายเดียว สัญญาเช่าบ้านระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยจึงไม่จำต้องคืนเงินดังกล่าวอันเป็นค่าเช่าล่วงหน้าส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินประกัน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 ธันวาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 โจทก์ตกลงเช่าบ้านเลขที่ 29 ถนนเลียบห้วยวังนอง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จากจำเลยเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนเดือนละ 20,000 บาท โดยในวันทำสัญญา โจทก์วางเงิน 160,000 บาท ให้แก่จำเลยยึดถือไว้ ตามสัญญาเช่าบ้าน โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินเข้าไปอยู่ในบ้านเช่าตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2556 และอยู่ในบ้านเช่าจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้น ย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง” จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดสิทธิในการเลิกสัญญาไว้ 2 ประการ คือ โดยข้อสัญญาหรือโดยกฎหมายให้อำนาจไว้ เมื่อพิเคราะห์สัญญาเช่าบ้าน ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนสัญญาเช่าถึงกำหนดโดยข้อสัญญาได้ โจทก์จึงต้องอาศัยสิทธิการบอกเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้โจทก์จะขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากบ้านเช่าพร้อมกับทำหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบ ก็มิใช่เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านกับจำเลยได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมตกลงเลิกสัญญาเช่าบ้านกับโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านแต่เพียงฝ่ายเดียว คดีฟังได้ว่าสัญญาเช่าบ้านระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยจึงไม่จำต้องคืนเงินดังกล่าวอันเป็นค่าเช่าล่วงหน้าส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ