คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4770/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่ว่า เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายนั้น เป็นองค์ประกอบความผิดแม้บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับว่าโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้ครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิด แต่ฟ้องก็ต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเช็คเพียงว่า เป็นเช็คเพื่อชำระหนี้โดยไม่ได้บรรยายถึงมูลหนี้ที่ออกเช็ค จึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ฟ้องดังกล่าวไม่สมบูรณ์ แม้โจทก์แนบสำเนาเช็คและใบคืนเช็คมาพร้อมกับคำฟ้องหาพอเป็นการยืนยันว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เช็คนั้นชำระหนี้ให้โจทก์ที่ มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายไม่ฟังได้เพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์โจทก์ยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงิน และธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2534 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2534 จำนวนเงิน 69,000 บาทแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย แสดงว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องของโจทก์สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)โดยการที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์แม้มิได้กล่าวอ้างถึงการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่โจทก์ได้แนบสำเนาเช็คและใบคืนเช็คมาพร้อมกับคำฟ้องเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เช็คนั้นชำระหนี้ให้โจทก์ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมายย่อมเป็นการเพียงพอแล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือ มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษ ฯลฯ” ดังนั้นบทบัญญัติที่ว่า เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดของการออกเช็ค แม้ตามบทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับว่าโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้ครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดแต่อย่างใด แต่ฟ้องก็ต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดการที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเช็คเพียงลอย ๆ ว่า เพื่อชำระหนี้แม้โจทก์แนบสำเนาเช็คและใบคืนเช็คมาพร้อมกับคำฟ้อง หาพอเป็นการยืนยันว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เช็คนั้นชำระหนี้ให้โจทก์ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายไม่ จะฟังได้อย่างมากเพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินและธนาคารปฏิเสธไม่ใช่เงินตามเช็คนั้น เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงมูลหนี้ที่ออกเช็คหากเป็นเช็คที่แลกเงินสดก็ถือว่าไม่ใช่เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงหรือหากเป็นเช็คที่ ชำระหนี้เงินยืมที่มีจำนวนกว่า 50 บาทขึ้นไป โดยมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง จะนำมาฟ้องร้องให้บังคับชำระหนี้ไม่ได้ ถือว่าเป็นเช็คชำระหนี้ที่บังคับไม่ได้ตามกฎหมาย แต่หากโจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นเช็คที่จำเลยออกให้ชำระค่าซื้อสินค้าที่ค้างชำระย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าเป็นเช็คเพื่อชำระหนี้จึงถือได้ว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
พิพากษายืน

Share