คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4762/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา343ก็ตามแต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกงประมวลกฎหมายอาญามาตรา341ด้วยดังนั้นเมื่อปรากฎในชั้นพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา352แม้โจทก์จะไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา192วรรคสามหาใช่เป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 21,890 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 3 ปี และให้จำเลยคืนเงินจำนวน21,890 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 1 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ว่า ระหว่างวันที่ 15 ถึง 30 กันยายน 2533ผู้เสียหายจำนวน 34 คน ได้มอบเงินให้แก่จำเลยจำนวน 27,510บาท เพื่อให้จำเลยจัดการจดทะเบียนต่อทะเบียนเรือและทำหรือต่ออายุอาชญาบัตรอวนให้ผู้เสียหายแต่ละคน แต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการให้และไม่ได้คืนเงินให้แก่ผู้เสียหายดังกล่าว มีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาเพียงข้อเดียวว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 352 ศาลจะลงโทษจำเลยตามมาตรา 352 ได้หรือไม่เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสามบัญญัติว่า ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่นเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอกรับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาทมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้น เป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ฯลฯ กรณีของจำเลยแม้ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา343 ก็ตาม แต่ความผิดฐานดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่มีองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ด้วยดังนั้นเมื่อปรากฎในชั้นพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แม้โจทก์จะไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้น มิใช่เป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน

Share