แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้เสียหายทั้งสองเป็นนักศึกษาวิทยาลัย ท. นั่งรถยนต์โดยสารประจำทางมาด้วยกันที่ใกล้บันไดรถ ขณะรถติดสัญญาณจราจรไฟสีแดงจำเลยที่ 3 วิ่งเข้ามาถามผู้เสียหายทั้งสองว่าเป็นนักศึกษาวิทยาลัยท.หรือไม่ขณะเดียวกันจำเลยที่2วิ่งขึ้นไปบนรถใช้มีดสะปาต้าฟันแขนซ้ายของผู้เสียหายที่ 1 บาดเจ็บ และใช้มีดดังกล่าวจี้เอาเสื้อฝึกงาน 1 ตัว นาฬิกาข้อมือ 1 เรือนไป ส่วนพวกของจำเลยทั้งสามขึ้นไปล้วงกระเป๋าใส่เงิน 1 ใบ พร้อมเงินสด 10 บาทไปและจำเลยที่ 1 ขึ้นไปกระชากสร้อยคอทองคำ 1 เส้นจากคอผู้เสียหายที่ 2แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 กระทำต่อผู้เสียหายคราวเดียวกัน แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 3 กับพวกไม่ได้สมรู้ร่วมคิดอันมีลักษณะประสงค์ต่อทรัพย์ผู้เสียหายเพียงแต่พวกของจำเลยทั้งสามคนหนึ่งชวนให้ไปตีกับพวกนักศึกษาวิทยาลัย ท. ลักษณะที่จำเลยที่ 3แยกไปสอบถามผู้เสียหายทั้งสองน่าจะเป็นความคึกคะนองและพาล หาเรื่องหาใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันกระทำเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหายจำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำผู้เสียหายที่ 2 เป็นลักษณะที่ถือโอกาสเป็นส่วนตัวลำพังผู้เดียว เจตนากระทำความผิดดังกล่าวการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336 วรรคแรก พวกของจำเลยทั้งสามถือโอกาสขณะนั้นเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 ไปโดยพลการ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดจำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 295, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 380 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ด้วย
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่าได้พกมีดไปในทางสาธารณะและได้ใช้มีดทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 แต่ปฏิเสธในข้อหาปล้นทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 2 และจำเลยที่ 2 มีความผิดลหุโทษอีกกระทงหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำเลยที่ 1ที่ 2 มีอายุไม่เกิน 20 ปี และจำเลยที่ 3 มีอายุไม่เกิน 17 ปีขณะกระทำความผิด ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76, 75 ตามลำดับ คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามในความผิดฐานปล้นทรัพย์คนละ 6 ปี และลงโทษปรับจำเลยที่ 2 ในความผิดลหุโทษอีกกระทงหนึ่ง 45 บาท ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นสมควรลดโทษให้อีกคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามในความผิดฐานปล้นทรัพย์คนละ 4 ปี และปรับจำเลยที่ 2 อีก เป็นเงิน30 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับก็ไม่ต้องกักขังแทน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานชิงทรัพย์และทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม, 295 ลงโทษตามมาตรา 339 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรกขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ที่ 2 อายุ 18 ปีจำเลยที่ 3 อายุ 16 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76, 75 แล้วจำเลยที่ 1 ให้จำคุก 2 ปี6 เดือน จำเลยที่ 2 ให้จำคุก 6 ปี จำเลยที่ 3 ให้จำคุก 2 ปีจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 คงจำคุก 4 ปี จำเลยที่ 3คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อรวมกับโทษปรับ 30 บาทฐานพาอาวุธมีดที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว รวมเป็นจำคุก 4 ปี ปรับ 30 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง จำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษเป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา339 วรรคสามเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ฎีกาโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2คงมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์หรือไม่ และมีปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 3 ว่าสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 3 หรือไม่… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายกิตติชัย กาญจนวิบูลย์ผู้เสียหายที่ 1 และนายสุวัฒน์ จิณณาสา ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง นั่งรถยนต์โดยสารประจำทางมาด้วยกันที่เบาะหลังด้านซ้ายใกล้บันไดรถ ขณะนั้นรถติดสัญญาณจราจรไฟสีแดงที่สามแยกลาดพร้าว จำเลยทั้งสามกับพวกรวม 7-8 คน เดินจับกลุ่มอยู่ใกล้รถแล้วจำเลยที่ 3 วิ่งเข้ามาสอบถามผู้เสียหายทั้งสองว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนช่างกลไทยสุริยะหรือเปล่า ผู้เสียหายทั้งสองไม่ตอบ จำเลยที่ 3 ถามอีกว่าเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคดอนเมืองหรือเปล่า ผู้เสียหายทั้งสองไม่ตอบ ขณะเดียวกันจำเลยที่ 2 วิ่งขึ้นไปบนรถและได้ใช้มีดสะปาต้าฟันที่แขนซ้ายของผู้เสียหายที่ 1จนได้รับบาดเจ็บและยังใช้มีดดังกล่าวจี้เอาเสื้อฝึกงาน 1 ตัวกับนาฬิกาข้อมือ 1 เรือนของผู้เสียหายที่ 1 ไปด้วยพวกของจำเลยทั้งสามขึ้นไปล้วงเอากระเป๋าใส่เงิน 1 ใบ พร้อมเงินสด 10 บาทของผู้เสียหายที่ 1 ไปและจำเลยที่ 1 ขึ้นไปกระชากเอาสร้อยคอทองคำ1 เส้น จากคอผู้เสียหายที่ 2 แล้วจำเลยทั้งสามกับพวกหลบหนีไปต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2529 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3ได้พร้อมนาฬิกาของผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 3 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปซื้อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่ 2 คืนมาจากร้านขายทองดีจินซึ่งจำเลยที่ 3 ได้นำไปขายไว้ และวันเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ สำหรับปัญหาตามฎีกาโจทก์นั้นเห็นว่าถึงแม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 จะกระทำต่อผู้เสียหายดังกล่าวในคราวเดียวกันแต่ก่อนที่จะเกิดเหตุนั้นทางพิจารณาไม่ได้ความเลยว่า จำเลยที่ 1ที่ 3 กับพวกได้สมรู้ร่วมคิดกันอันมีลักษณะประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย คงได้ความตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1และที่ 3 เอกสารหมาย จ.7 และ จ.6 ตามลำดับว่า ก่อนจะเกิดเหตุนั้นพวกของจำเลยทั้งสามคนหนึ่งชวนให้ไปตีกับพวกนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง จึงเชื่อว่าลักษณะที่จำเลยที่ 3 แยกไปสอบถามผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นนักศึกษาวิทยาลัยดังกล่าวนั้น น่าจะเป็นความคึกคะนองของจำเลยที่ 3 และเป็นการพาลหาเรื่องผู้เสียหายทั้งสองมากกว่าหาใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันกระทำดังกล่าวเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหายไม่ที่จำเลยที่ 1 ขึ้นไปกระชากเอาสร้อยคอทองคำจากคอผู้เสียหายที่ 2 ไปนั้น ก็เป็นลักษณะที่จำเลยที่ 1 ถือโอกาสเป็นการส่วนตัวในขณะนั้นเข้าไปกระชากเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ลำพังแต่ผู้เดียวมีเจตนากระทำผิดดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ส่วนที่พวกของจำเลยทั้งสามขึ้นไปล้วงเอากระเป๋าใส่เงินและได้เงินสดของผู้เสียหายที่ 1ไปด้วยนั้นก็น่าจะเป็นการที่พวกของจำเลยดังกล่าวถือโอกาสในขณะนั้นเข้าไปเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 โดยพลการ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3มิได้สมรู้ร่วมคิดด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์
สำหรับปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 3 มีอายุเพียง 16 ปี และยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นเป็นการสมควรรอการลงโทษไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 3 กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมานั้นชอบแล้ว แต่ที่ไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 3 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 3 ไว้มีกำหนด3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.