แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นธนาคารพาณิชย์ พนักงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องระมัดระวังและต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษตรวจสอบเช็คที่โจทก์สั่งจ่าย หากมีการแก้ไขชื่อผู้รับเงินซึ่งเป็นข้อความสำคัญในเช็คโดยเห็นประจักษ์ ก็ชอบที่จะปฏิเสธการใช้เงิน เพราะเหตุที่เป็นตั๋วเงินปลอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 โดยแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเช็คทราบทันที ไม่เช่นนั้นแล้วหากมีการจ่ายเงินตามเช็คไปย่อมเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คพิพาทแล้ว อ. แก้ไขปลอมแปลงเช็คนั้นภายหลัง ไม่อาจถือเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ การใช้เงินไปตามเช็คของจำเลยที่ 1 จะได้รับความคุ้มครองเพียงใด ต้องเป็นไปตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1009 บัญญัติไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน 888,946.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 756,545.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 888,946.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 756,545.60 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบก่อนการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท และโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่ 1 โดยปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ทำบัญชี ทำให้มีการแก้ไขชื่อผู้รับเงินตามเช็คเบิกเงินจากจำเลยที่ 1 ไปได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นธนาคารพาณิชย์ พนักงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องระมัดระวังและต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษตรวจสอบเช็คที่โจทก์สั่งจ่าย หากมีการแก้ไขชื่อผู้รับเงินซึ่งเป็นข้อความสำคัญในเช็คโดยเห็นประจักษ์ ก็ชอบที่จะปฏิเสธการใช้เงิน เพราะเหตุที่เป็นตั๋วเงินปลอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 โดยแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเช็คทราบทันที ไม่เช่นนั้นแล้วหากมีการจ่ายเงินตามเช็คไปย่อมเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานของจำเลยที่ 1 ลำพังแต่เพียงที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คพิพาทแล้ว นายอมรแก้ไขปลอมแปลงเช็คนั้นภายหลังไม่อาจถือเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ กรณีคดีนี้การใช้เงินไปตามเช็คของจำเลยที่ 1 จะได้รับความคุ้มครองเพียงใด ต้องเป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1009 บัญญัติไว้ กล่าวคือ หากจำเลยที่ 1 ได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ จึงจะถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ การจะพิจารณาว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบเช็คพิพาทซึ่งเป็นตั๋วเงินปลอมทั้งสิบเจ็ดฉบับหรือไม่เพียงใด จำต้องพิจารณาตามรายละเอียดในเช็คแต่ละฉบับ ซึ่งเช็คเลขที่ 0058767 พบร่องรอยการแก้ไขที่ตัวอักษร “ษ” ในชื่อผู้รับเงิน ทั้งชื่อผู้รับเงินตามเช็คทั้งสองฉบับยังเขียนเป็น “เกษมสรรพกิจ” มิใช่ “เกษมสรรพากิจ” ชื่อผู้รับเงินตามเช็คดังกล่าวจึงมิใช่ชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่เปิดไว้กับจำเลยที่ 1 หากพนักงานของจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังตามวิชาชีพก็น่าจะตรวจพบและมีข้อสงสัยว่าเป็นการแก้ไขชื่อผู้รับเงินในเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ แต่พนักงานของจำเลยที่ 1 หาได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบไม่ ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเช็คพิพาททั้งแปดฉบับที่กล่าวมา สำหรับเช็คเลขที่ 0076537 และเช็คเลขที่ 0076593 นั้น เมื่อพิจารณาแล้วไม่เห็นประจักษ์ว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ต้องพิจารณาตามรายงานการตรวจพิสูจน์ จึงจะเห็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับเงินในเช็คทั้งสองฉบับได้ ส่วนเช็คฉบับเลขที่ 0076563, 0076586, 0084801 , 0084805 , 0084823 และ 0084825 นั้น เมื่อพิจารณาตัวอักษรทั้งหมดในเช็คโดยส่องดูทั้งด้านหน้าและด้านหลังแล้ว ไม่เห็นการแก้ไขเป็นที่ประจักษ์ และแม้จะได้มีการนำเช็คดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ โจทก์ก็ไม่ได้นำเจ้าพนักงานผู้ตรวจพิสูจน์มาเบิกความรับรองว่า เช็คแต่ละฉบับมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร คงมีเพียงความเห็นของผู้ชำนาญการตามรายงานการตรวจพิสูจน์ที่ได้ระบุว่าตรวจพบร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความเดิมปรากฏตามภาพแสดงประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ที่ 0008/2553 ศาลฎีกาได้ตรวจดูภาพแสดงประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ที่ 0008/2553 แล้วไม่ปรากฏชัดถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ลำพังเพียงเช็คและรายงานการตรวจพิสูจน์ตามที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอฟังว่า พนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบเช็คทั้งแปดฉบับดังกล่าว ส่วนเช็คฉบับเลขที่ 0084875 โจทก์ไม่ได้อ้างส่งต่อศาล ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการส่งเช็คฉบับดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์หรือไม่ ไม่อาจรับฟังว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบเช็คฉบับดังกล่าวเช่นกัน ดังนี้ การจะให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับเพราะเหตุที่เป็นตั๋วเงินปลอมโดยไม่ได้พิจารณาว่าเช็คฉบับใดมีการแก้ไขปลอมแปลงอย่างไร เป็นที่เห็นประจักษ์หรือไม่ ย่อมไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเช็คจำนวน 8 ฉบับ ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในเช็คทุกฉบับตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็ค 8 ฉบับ รวมจำนวน 309,920.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คเลขที่ 0058766, 0058767, 0058800, 0068107, 0068130, 0068160, 0068190 และ 0084851 นับแต่วันเรียกเก็บเงินตามเช็คแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ