แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสอง นั้น ไม่จำเป็นที่นายจ้างจะต้องมีคำสั่งโดยใช้ถ้อยคำเช่นนั้นตรง ๆ การใช้ถ้อยคำอย่างอื่นหรือกระทำการอย่างใดที่มีความหมายว่าให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก ก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้างได้การที่จำเลยได้ปฏิบัติต่อโจทก์เยี่ยงบุคคลภายนอก และได้ให้ผู้อื่นหาคนงานใหม่แทนโจทก์ พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้าง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์ออกจากงานไปเอง จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ขาดงานไปเพราะต้องพาบุตรและภริยาไปส่งต่างจังหวัดเนื่องจากบ้านพักของโจทก์ถูกไฟไหม้ เป็นการขาดงานโดยมีเหตุอันสมควร เมื่อโจทก์กลับมาทำงาน จำเลยได้ปฏิบัติต่อโจทก์เยี่ยงโจทก์เป็นบุคคลภายนอกทั้งเคยให้คนงานอื่นช่วยหาคนงานใหม่แทนโจทก์ โจทก์จึงเก็บเสื้อผ้าและออกจากโรงงานของจำเลยไป เป็นพฤติการณ์ซึ่งถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ไม่ใช่โจทก์ออกจากงานไปเอง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน ซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสอง นั้น ไม่จำเป็นที่นายจ้างจะต้องมีคำสั่งโดยใช้ถ้อยคำเช่นนั้นตรง ๆ การใช้ถ้อยคำอย่างอื่นหรือเพียงแต่กระทำการอย่างใดที่มีความหมายว่า ให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก ก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้างได้ ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า เมื่อโจทก์กลับมาทำงาน…จำเลยได้ปฏิบัติต่อโจทก์เยี่ยงโจทก์เป็นบุคคลภายนอกมิใช่ในฐานะนายจ้างลูกจ้างจะพึงปฏิบัติต่อกัน ทั้งจำเลยได้ให้คนงานอื่นหาคนงานใหม่แทนโจทก์ พฤติการณ์ย่อมถือได้ว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงาน จึงเป็นการเลิกจ้าง…จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์…”
พิพากษายืน.