คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4747/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “PELE” ซึ่งเป็นชื่อสมญาของโจทก์ที่ 2 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายของสาธารณชน จำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวประกอบกับรูปประดิษฐ์ต่าง ๆ ไปจดทะเบียนการค้าเพื่อใช้กับสินค้าลูกฟุตบอลของจำเลยทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนคล้ายกับของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองนับว่าเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคสอง ในกรณีเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฟ้องบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังกล่าวอ้างอีกว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “PELE” แม้จะมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย แต่ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปในความหมายของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ห้ามมิให้จดทะเบียน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เมื่อจำเลยยอมรับว่า จำเลยรู้จักโจทก์ที่สองในฐานะนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง การที่จำเลยนำชื่อสมญาของโจทก์ที่ 2 มาใช้กับสินค้าอุปกรณ์การกีฬาของจำเลยย่อมจะเป็นที่เล็งเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ชื่อสมญาของโจทก์ที่ 2 ในหมู่คนที่รู้จักชื่อสมญาดังกล่าวอย่างแพร่หลาย และทำให้จำเลยได้รับประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 และชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ที่ 2 โดยมิชอบ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “PELE” เครื่องหมายการค้า “PELE” กับรูปประดิษฐ์ในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องหมายการค้า “PELE” กับรูปประดิษฐ์ ตามทะเบียนเลขที่ ค 129184 (คำขอเลขที่ 412558) ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียน หรือเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าดังกล่าว รวมทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า “PELE” ของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยยุติการผลิต โฆษณา และจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้า “PELE” เครื่องหมายการค้า ข้อความว่า “SIGNATURE OF PELE” รวมตลอดถึงเครื่องหมายการค้า หรือข้อความอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายหรือมีความหมายเดียวกับเครื่องหมายการค้าและข้อความดังกล่าวทั้งสิ้น และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์แต่ละคน ในอัตราเดือนละ 100,000 บาท ต่อคน นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะยุติการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “PELE” รวมทั้งเครื่องหมายการค้าคำว่า “PELE” กับรูปประดิษฐ์ ตามทะเบียนเลขที่ ค 129184 (คำขอเลขที่ 412558) ดีกว่าจำเลยให้จำเลยดำเนินการให้นายทะเบียนเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามทะเบียนเลขที่ ค.129184 (คำขอเลขที่ 412558) หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยยุติการผลิต โฆษณา และจำหน่ายสินค้า ตามภาพถ่ายที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “PELE” และเครื่องหมายการค้า พร้อมข้อความว่า “SIGNATURE OF PELE” คำขออื่นให้ยก ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “PELE” และ ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย และจำเลยไม่ได้ลวงขายสินค้าของจำเลย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “PELE” และ ซึ่งเป็นชื่อสมญาและลายมือชื่อสมญาของโจทก์ที่ 2 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายของสาธารณชน จำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวประกอบกับรูปประดิษฐ์ต่าง ๆ ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าลูกฟุตบอลของจำเลยทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนคล้ายกับของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองนับว่าเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคสองในกรณีเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฟ้องบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังกล่าวอ้างอีกว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “PELE” แม้จะมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยแต่ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปในความหมายของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ซึ่งห้ามมิให้รับจดทะเบียน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยดำเนินการเพิกถอนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค. 129184 ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยยอมรับว่า จำเลยรู้จักโจทก์ที่ 2 ในฐานะนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงการที่จำเลยนำชื่อสมญาของโจทก์ที่ 2 มาใช้กับสินค้าอุปกรณ์การกีฬาของจำเลย ย่อมจะเป็นที่เล็งเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ชื่อสมญาของโจทก์ที่ 2 ในหมู่คนที่รู้จักชื่อสมญาดังกล่าวอย่างแพร่หลาย และทำให้จำเลยได้รับประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 และชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ที่ 2 โดยมิชอบ
สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องนั้น เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้กำหนดให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายหรือไม่จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share