คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4741/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมมีความหมายว่าจะต้องดำเนินการเพื่อบังคับคดีภายใน10ปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไปเมื่อจำเลยที่1อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยที่1รับผิดร่วมกับจำเลยอื่นแต่จำเลยที่1ทิ้งอุทธรณ์เพราะมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่1ออกจากสารบบความโดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่26ธันวาคม2529จึงต้องถือว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่1ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในวันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา140วรรคท้ายและมาตรา147วรรคสองหาใช่ว่าถึงที่สุดในวันที่22กุมภาพันธ์2527อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไม่ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำแถลงต่อศาลขอให้ออกคำบังคับแก่จำเลยที่1เมื่อวันที่22กุมภาพันธ์2537และต่อมาในวันที่24มิถุนายน2537ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งภายใน10ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271แล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2527 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงิน100,000 บาท ร่วมกับจำเลยที่ 3 ชำระเงิน 100,000 บาท และร่วมกับจำเลยที่ 4 ชำระเงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จำเลยทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2529ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมกับวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความ โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2529ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2537 โจทก์ขอหมายบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีโดยอ้างว่าโจทก์ขอออกหมายบังคับคดีเกินระยะเวลา 10 ปี
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ย่อมมีความหมายว่าจะต้องดำเนินการเพื่อบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไป คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 จะได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยอื่นด้วย แต่จำเลยที่ 1 ทิ้งอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์โดยศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2529 จึงต้องถือว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในวันที่ 26 ธันวาคม 2529 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 วรรคท้าย และมาตรา 147 วรรคสอง หาใช่ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2527 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำแถลงต่อศาลขอให้ออกคำบังคับแก่จำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 และต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน 2537ก็ได้ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดี ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 แล้วโจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและพิพากษายืนกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share