คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยที่ 1 จะยกที่ดินให้แก่บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เอาที่ดินนั้นไปทำจำนองไว้กับจำเลยที่ 2 โจทก์ในฐานะที่เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2503)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากัน ต่อมาโจทก์ฟ้องขอหย่า แล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ตกลงหย่ากัน ตามสัญญาข้อ 2 มีว่า จำเลยที่ 1 ยอมแบ่งทรัพย์คือ ที่ดินมีโฉนด รวม 3 แปลง ให้แก่บุตรสองคนของโจทก์และจำเลยที่ 1ภายหลังจำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินให้แก่บุตร กลับเอาไปจำนองจำเลยที่ 2 ไว้ทั้ง 3 แปลง โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองขอให้สั่งเพิกถอนนิติกรรมการจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสีย หากไม่สามารถเพิกถอนทำลายนิติกรรมการจำนองได้ก็ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้หนี้จำนองพร้อมทั้งดอกเบี้ยเพื่อโจทก์จะได้ไถ่ถอนชำระหนี้จำนองต่อไป

ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้ว สั่งฟ้องโดยยังไม่ส่งสำเนาให้จำเลยว่าทรัพย์ที่พิพาทโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงยกให้บุตรไปแล้ว บุตรจึงชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติการชำระหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์ไม่ใช่บุคคลถูกโต้แย้งสิทธิไม่อาจเป็นคู่ความได้ไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องได้ พิพากษายก ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไป

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าแม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ โดยยังไม่ได้หมายเรียกจำเลยให้มาแก้คดีก็ตามแต่ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247

ส่วนในข้อที่ว่า โจทก์จะมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับจำเลยที่ 1 ความว่าจำเลยที่ 1 จะยกที่ดินโฉนดที่ 6220, 6408 และ 6147 ให้แก่บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญา โดยเอาที่ดินทั้ง 3 โฉนดนี้ ไปจำนองไว้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็รู้ดีอยู่แล้วว่าที่ดินทั้ง 3 โฉนด จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับโจทก์ว่าจะยกให้บุตร แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยไปก่อหนี้จำนองเป็นภาระผูกพันที่ดินทั้งสามโฉนดนั้นโจทก์ในฐานะที่เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้

ข้อที่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ควรจะขอให้บังคับคดีเอาตามคำพิพากษาท้ายยอมนั้น ข้อนี้โจทก์ได้กล่าวในฟ้องไว้ด้วยว่า โจทก์ได้ขอให้บังคับคดีแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เอาที่ดินที่ตนจะต้องยกให้แก่บุตรตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปทำนิติกรรมจำนองไว้กับจำเลยที่ 2 เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองเสียได้ส่วนที่ว่าบุตรได้รับเอาตามสัญญาแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องยังไม่เป็นประเด็นในชั้นนี้

พิพากษายืน

Share