คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4736/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้นต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่และเหตุนั้นเป็นเหตุที่สมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ส่วนกรณีที่จะต้องมีการสอบสวนถึงเหตุนั้นก่อนหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งจะนำมาเป็นหลักในการพิจารณาว่าถ้าไม่มีการสอบสวนตามระเบียบแล้วย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชามีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต ทำให้จำเลยไม่อาจไว้วางใจโจทก์อีกต่อไป จำเลยจึงมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการประจำสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่รักษาการผู้จัดการกองการเดินรถ ได้รับค่าจ้างเดือนละ30,000 บาท ค่ารถเหมาจ่ายเดือนละ 5,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 27 ของเดือน ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ได้ตั้งกรรมการสอบสวนตามระเบียบ ไม่ปรากฏเหตุแห่งความผิด เป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงและจำเลยเลิกจ้าง โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนเกษียณอายุทำให้โจทก์เสียหายและเสียสิทธิประโยชน์ที่จำเลยได้ให้แก่พนักงานที่เกษียณอายุและครอบครัวโดยสารเครื่องบินของจำเลยโดยไม่เสียค่าโดยสารปีละ 2 ครั้ง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม3,790,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 60,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินสองรายการดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยให้สิทธิประโยชน์แก่โจทก์และครอบครัวที่จะโดยสารเครื่องบินของจำเลย โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารปีละ 2 ครั้ง ด้วย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยครั้งสุดท้ายได้รับค่าจ้างเดือนละ 29,495 บาท ค่ารถเดือนละ 5,000บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ร่วมพิจารณาร่างสัญญาจ้างรถรับส่งผู้โดยสารกับบริษัทชิเซโรเนคอมเมอร์เชียล จำกัด โดยหละหลวมผิดวิสัยพนักงานระดับผู้อำนวยการนอกจากนั้นขณะทำสัญญารถร่วมก็ไม่มีสัญญาค้ำประกันของธนาคารอันเป็นการทำผิดวิสัยตามระเบียบจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2521 ตอนที่ 2 ว่าด้วยวินัยการลงโทษ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ข้อ 3 ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตต่อหน้าที่จำเลยจึงไม่ไว้วางใจและไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำงานกับจำเลยอีกต่อไปและโจทก์รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดปรากฏชัดแจ้ง จำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ได้โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่จำเลยก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยด้วยแล้วการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับค่าเสียหายขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยให้สิทธิโดยสารเครื่องบินแก่โจทก์และครอบครัว เพราะตามระเบียบของจำเลยกำหนดไว้ว่าเป็นการให้ จำเลยมีสิทธิจะยกเลิก เรียกคืนหรือระงับการใช้บัตรโดยสารนั้นเป็นการชั่วคราวหรือตลอดไปเมื่อใดก็ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าระเบียบของจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2521 ข้อ 2ที่ศาลแรงงานกลางยกมาวินิจฉัยเป็นเรื่องนิยามศัพท์คำว่า “เลิกจ้าง”เท่านั้น เมื่อการเลิกจ้างเป็นมาตรการลงโทษสถานหนึ่ง การลงโทษสถานนี้ได้ก็ต้องมีการสอบสวนก่อน จำเลยลงโทษเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามระเบียบ ย่อมเป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้นต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่และเหตุนั้นเป็นเหตุที่สมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ส่วนกรณีที่จะต้องมีการสอบสวนถึงเหตุนั้นก่อนหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะนำมาเป็นหลักในการพิจารณาว่าถ้าไม่มีการสอบสวนตามระเบียบแล้ว ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ สำหรับพฤติการณ์แห่งคดีนี้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต ทำให้จำเลยไม่อาจไว้วางใจโจทก์อีกต่อไป จำเลยจึงมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและบัตรโดยสารเครื่องบินสำหรับโจทก์และครอบครัวถ้าโจทก์ได้ทำงานต่อไปจนเกษียณอายุนั้น เห็นว่าเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจบริหารสูงสุดของจำเลยในเรื่องที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของโจทก์ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบและโจทก์ก็มิได้ทำงานกับจำเลยจนเกษียณอายุโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสิทธิประโยชน์ในเรื่องบัตรโดยสารเครื่องบินตามฟ้องได้อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share