แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของบริษัทโจทก์ ข้อ 4 มีความว่า “เมื่อมีการประชุมสามัญประจำปีภายหลังแต่การจดทะเบียนบริษัท ในทุก ๆ ปีต่อไปของบริษัทก็ดี ผู้ที่เป็นกรรมการต้องออกจากตำแหน่งทั้งสิ้น …” ดังนี้ กรรมการชุดเดิมต้องออกจากตำแหน่งต่อเมื่อมีการประชุมสามัญประจำปีในทุก ๆ ปี ถ้าไม่มีการประชุมสามัญประจำปี กรรมการก็ยังคงเป็นกรรมการของบริษัทอยู่ต่อไปหลังจากตั้งกรรมการชุดเดิมแล้ว บริษัทโจทก์ไม่มีการประชุมสามัญประจำปีกรรมการบริษัทโจทก์ชุดเดิมจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายฟ้องจำเลยได้
ข้อที่ว่า บริษัทจำเลยเชิด ช. และ ส. ออกแสดงเป็นตัวแทนของบริษัทจำเลย ทำการกู้เงินจากบริษัทโจทก์ และบริษัทจำเลยได้รับและถือเอาประโยชน์จากการกู้ยืมรายนี้ ย่อมอยู่ในประเด็นว่าบริษัทจำเลยได้กู้เงินโจทก์โดย ช. และส. เป็นผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยในสัญญากู้ยืมหรือไม่
การตั้งตัวแทนที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือนั้นใช้แก่กรณีที่มีสัญญาตั้งตัวแทน ไม่ใช้แก่กรณีเชิดบุคคลเป็นตัวแทน
พยานโจทก์เบิกความว่า การกู้ยืมเงินรายนี้จำเลยให้ดอกเบี้ยร้อยละ2 บาทต่อเดือน ดังนี้ เป็นเพียงเสนอด้วยวาจาเบื้องต้นเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญากันแน่นอน ก็คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน จึงไม่ฝ่าฝืนอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล ได้กู้เงินโจทก์ไป ๘๐,๐๐๐ บาทจำเลยผิดนัดขอให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่ามิได้กู้ยืม นายชั้นและนางสำเนียงซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อกู้ยืมมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทจำเลย ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินต้นตามฟ้องและดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ที่จำเลยฎีกาว่า บริษัทโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลย เพราะนางลมุล ประสงค์สุขการี และหลวงประเสริฐมนูกิจ กรรมการบริษัทโจทก์ทั้งสองที่ลงชื่อในใบแต่งทนายความได้พ้นตำแหน่งไปตามข้อบังคับของบริษัทโจทก์แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามหนังสือของหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางกรมทะเบียนการค้า เอกสารหมาย จ.๔ ระบุว่าบริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๙๕ปัจจุบันบริษัทนี้จดทะเบียนกรรมการไว้ ๓ คน และจดทะเบียนกรรมการมีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทไว้ว่า กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะถือว่าผูกพันบริษัทได้ และตามหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัทโจทก์ เอกสารหมาย ล.๔ ข้อบังคับข้อ ๔ ความว่า “เมื่อมีการประชุมสามัญประจำปีภายหลังแต่การจดทะเบียนบริษัท ในปีทุก ๆ ปีต่อไปของบริษัทก็ดี ผู้ที่เป็นกรรมการต้องออกจากตำแหน่งทั้งสิ้นกรรมการผู้ออกไปนั้นจะเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้” ศาลฎีกาเห็นว่าความตามข้อบังคับข้อ ๔ นี้ กรรมการชุดเดิมต้องออกจากตำแหน่งต่อเมื่อมีการประชุมสามัญประจำปีในทุก ๆ ปี ถ้าไม่มีการประชุมสามัญประจำปีกรรมการก็ยังคงเป็นกรรมการของบริษัทอยู่ต่อไป สำหรับคดีเรื่องนี้หลังจากตั้งกรรมการชุดเดิมแล้ว บริษัทโจทก์ไม่มีการประชุมสามัญประจำปี ฉะนั้น กรรมการชุดเดิมจึงยังคงเป็นกรรมการบริษัทโจทก์อยู่นางลมุล ประสงค์สุขการี และหลวงประเสริฐมนูกิจ กรรมการบริษัทโจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความบริษัทโจทก์ฟ้องบริษัทจำเลยได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า บริษัทจำเลยเชิดนายชั้น สิริสุข และนางสำเนียง ศรีพยัคฆ์ เป็นตัวแทนให้ทำการกู้เงินรายนี้และบริษัทจำเลยได้รับผลประโยชน์จากการกู้ยืมนั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกประเด็นจากที่ได้กะประเด็นไว้ ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีเป็นเรื่องบริษัทจำเลยเชิดนายชั้นและนางสำเนียงออกแสดงเป็นตัวแทนของบริษัทจำเลย ทำการกู้เงินจากบริษัทโจทก์ และบริษัทจำเลยได้รับหรือถือเอาประโยชน์จากการกู้ยืมรายนี้ จึงอยู่ในประเด็นที่ว่าบริษัทจำเลยได้กู้เงินโจทก์โดยนายชั้นและนางสำเนียงเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยในสัญญากู้ยืมหรือไม่ตามที่ศาลชั้นต้นได้กะประเด็นไว้ หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นอย่างใดไม่
ส่วนข้อที่ว่า การตั้งตัวแทนไปทำสัญญากู้ยืมอย่างเช่นในคดีนี้ ต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อมิได้มีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ การที่นายชั้นนางสำเนียงไปทำการกู้เงินจากโจทก์จึงไม่มีผลผูกพันบริษัทจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าการตั้งตัวแทนที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือนั้นใช้แก่กรณีที่มีสัญญาตั้งตัวแทน ไม่ใช้แก่กรณีเชิดบุคคลเป็นตัวแทน
จำเลยฎีกาว่า ได้มีการตกลงกันด้วยวาจาให้ดอกเบี้ยร้อยละ ๒ ต่อเดือนแต่เมื่อทำหนังสือสัญญากู้ยืมกันได้ลงอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ ๑.๒๕ บาทต่อเดือน ต้องถือว่าเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.๑ ระบุว่าจำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ ๑.๒๕ บาทต่อเดือนหรือร้อยละ ๑๕ ต่อปีที่พยานโจทก์เบิกความว่าการกู้ยืมรายนี้จำเลยให้ดอกเบี้ยร้อยละ ๒ บาทต่อเดือน ก็เป็นเพียงเสนอด้วยวาจาเบื้องต้นเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญากันแน่นอนก็คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ ๑.๒๕ บาทต่อเดือนจึงไม่ฝ่าฝืนอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย พิพากษายืน