คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4723/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ส. เป็นบุตรของ ว. และ ฉ. หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ ส. เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดอยู่ด้วย ทั้ง ส. ยังมีหน้าที่ขับรถยนต์คันหนึ่งและเป็นผู้ประสานงานตามสัญญาจ้างเหมารถรับส่งพนักงานของจำเลยระหว่างโจทก์กับจำเลยตลอดมา ส่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับ ส. ว่า โจทก์เชิด ส. ออกแสดงเป็นตัวแทน โจทก์จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่า ส. เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 ประกอบมาตรา 1042 ดังนั้น การที่ ส. ลงลายมือชื่อในหนังสือแจ้งเลิกสัญญาต่อจำเลย ย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ แม้จำเลยจะให้การว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่คดีได้ความว่า ตัวแทนเชิดของโจทก์เป็นผู้บอกเลิกสัญญาก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นนอกคำให้การ เพราะเป็นการนำสืบให้ทราบถึงความจริงว่าเป็นอย่างไร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2541 จำเลยทำสัญญาจ้างเหมารถรับส่งพนักงานกับโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ในอัตราค่าจ้างวันละ 21,280 บาท โดยไม่รวมค่าล่วงเวลา หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการบอกเลิกสัญญา จะต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2542 จำเลยบอกเลิกสัญญา โดยให้โจทก์ให้บริการรับส่งพนักงานของจำเลยได้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 แต่เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 จำเลยมีคำสั่งห้ามมิให้โจทก์รับส่งพนักงานของจำเลยอีกต่อไป และให้บริษัทอื่นนำรถมารับส่งพนักงานแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาทำให้โจทก์ขาดรายได้ตามสัญญา 27 วัน รวมเป็นเงิน 574,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 16,758 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 591,318 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 574,560 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์โดยให้สัญญาสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542 โจทก์บอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดดังกล่าว จำเลยยินยอมเลิกสัญญาด้วย โดยให้สัญญาสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 228,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นนิติบุคคล โดยโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ่นส่วนจำกัด มีนางฉลวยและเรือตรีวิจิตร ซึ่งเป็นบิดามารดาของนายสมควรเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยนายสมควรเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วยตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจ้างเหมารถรับส่งพนักงานของจำเลยมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ตามเอกสารหมาย จ.3 ในระหว่างเวลาของสัญญา โจทก์นำรถสภาพไม่ดีมาใช้ทำให้รถเสียระหว่างทาง และไม่นำรถเข้ามารับพนักงานของจำเลยและมารับล่าช้าอยู่เสมอ จำเลยได้แจ้งเรื่องดังกล่าวผ่านทางนายสมควรซึ่งทำหน้าที่ขับรถยนต์คันหนึ่งและเป็นผู้ประสานงานระหว่างโจทก์กับจำเลยตลอดมา ต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542 นายสมควร ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือขอยกเลิกสัญญารายนี้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 ตามเอกสารหมาย ล.20 คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลย เป็นฝ่ายผิดสัญญาข้างต้นหรือไม่ เห็นว่า นายสมควร เป็นบุตรของเรือตรีวิจิตรและนางฉลวยหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ โดยนายสมควรเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดอยู่ด้วย อีกทั้งนายสมควรยังมีหน้าที่ขับรถยนต์คันหนึ่งและเป็นผู้ประสานงานตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยตลอดมาตามเอกสารหมาย ล.13 ถึง ล.18 ส่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนายสมควรว่า โจทก์เชิดนายสมควรออกแสดงเป็นตัวแทนของตน โจทก์จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่านายสมควรเป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ประกอบมาตรา 1042 ซึ่งบัญญัติว่า ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนผู้จัดการ กับผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน ดังนั้น การที่นายสมควรลงลายมือชื่อในหนังสือแจ้งเลิกสัญญารายนี้ต่อจำเลยตามเอกสารหมาย ล.20 ย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ แม้จำเลยจะให้การว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่คดีได้ความว่า ตัวแทนเชิดของโจทก์เป็นผู้บอกเลิกสัญญาก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นนอกคำให้การแต่อย่างใด เพราะเป็นการนำสืบให้ทราบถึงความจริงว่าเป็นอย่างไร กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาข้างต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ดังฟ้อง และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ดี คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 228,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ซึ่งไม่เต็มตามฟ้องแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ การที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้อง จึงไม่ชอบและทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ 228,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 จนถึงวันฟ้อง กรณีต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่ชำระเกินมาแก่โจทก์”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ให้คืนค่าขึ้นศาลที่ชำระเกินมาให้แก่โจทก์

Share