คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4723/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โดยลักษณะของทางสาธารณะอาจเป็นได้2กรณีคือเจ้าของที่ดินอุทิศให้เป็นทางสาธารณะกับการที่มีประชาชนใช้สอยเป็นเวลานานโดยไม่มีการหวงห้ามเข้าลักษณะเป็นทางสาธารณะโดยปริยายคดีนี้ได้ความว่าจากปากซอยพานิชอนันต์เข้าไปตามถนนซอยประมาณ175เมตรเป็นทางสาธารณะถัดจากทางพิพาทเข้าไปก็เป็นทางสาธารณะอีกส่วนหนึ่งและที่เป็นซอยแยกก็เป็นทางสาธารณะด้วยลักษณะการใช้สอยทางพิพาทของประชาชนปรากฏว่าใช้มาเป็นเวลานานกว่า10ปีพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้แล้วว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะโดยปริยายเมื่อฟังว่าเป็นทางสาธารณะแล้วประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยมีสิทธิใช้สอยได้ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายและห้ามมิให้จำเลยใช้ทางพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 23478เนื้อที่ 48 ตารางวา โจทก์แบ่งเนื้อที่บางส่วนของที่ดินดังกล่าวทำเป็นถนนซอยพานิชอนันต์ กว้าง 7 เมตร ยาว 12 เมตร ซึ่งจะต่อออกไปเชื่อมกับถนนซอยสุขุมวิท 71 และโจทก์ได้ปักป้ายแสดงการหวงห้ามหรือสงวนสิทธิที่ดินส่วนที่เป็นถนนดังกล่าว แต่มีบุคคลอื่นที่มีที่ดินตั้งอยู่ด้านในของซอยนี้และไม่มีทางออกสู่ถนนใหญ่มาขอใช้ทางร่วมกับโจทก์หลายรายโดยยินยอมเสียค่าตอบแทนให้โจทก์ จำเลยตกลงซื้อที่ดินจากนางเพิ่ม คล้ายศรี 3 ไร่2 งาน 42 ตารางวา ที่ดินนี้ไม่มีทางออกนางเพิ่มจึงทำข้อตกลงเรื่องทางเดินกับโจทก์ยอมให้ค่าตอบแทนโจทก์ 40,000 บาท แล้วนางเพิ่มได้โอนที่ดินแก่จำเลย เมื่อจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 59488 เนื้อที่ 3 ไร่ 32 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินที่ซื้อบางส่วนจากนางเพิ่ม จำเลยก็มิได้นัดวันไปจดทะเบียนภารจำยอมกับโจทก์แต่อย่างใด ต่อมาจำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่59492, 103979 และ 36643 ถึง 36647 ขยายออกไปทางด้านทิศเหนือและทิศใต้อีก 7 แปลง เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวาแล้วปลูกสร้างโรงเรือนทำหลอดยา ที่ดินที่จำเลยซื้อภายหลังนี้ไม่มีข้อตกลงเรื่องทางเดินผ่านถนนซอยพานิชอนันต์ ส่วนที่อยู่ในโฉนดเลขที่ 23478 ของโจทก์ ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2532ถึงวันฟ้อง จำเลยนำรถยนต์บรรทุกสัมภาระและรถยนต์นั่งผ่านเข้าออกที่ดินดังกล่าวของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เพิ่มภาระแก่ที่ดินโจทก์ส่วนที่เป็นถนน ทำให้ถนนของโจทก์เสียหายสุขภาพอนามัยของโจทก์ถูกบั่นทอนจากเสียงรบกวนของรถที่ผ่านไปมาเนื่องจากที่ทำงานของโจทก์อยู่ใกล้ถนนดังกล่าว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยงดใช้ถนนในที่ดินของโจทก์เฉพาะที่ดินที่จำเลยซื้อมาภายหลังจำนวน 7 แปลงแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดค่าเสียหายของถนนตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2532 ถึงวันฟ้องรวม 64 วัน เป็นเงิน22,500 บาท ค่าเสียสุขภาพอนามัยเป็นเงิน 5,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย 27,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ห้ามจำเลยและบริวารตลอดจนผู้ซื้อที่ดินต่อจากจำเลยในส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 59492,103979 และ 36643 ถึง 36647 ใช้ที่ดินส่วนที่เป็นถนนของโจทก์ในโฉนดเลขที่ 23478 ตำบลคลองตัน (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ)อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และห้ามเกี่ยวข้องไม่ว่าด้วยประการใด ๆ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินโฉนดเลขที่23478 ตามฟ้องไม่ใช่ที่ดินในซอยพานิชอนันต์ ถนนซอยพานิชอนันต์เป็นทางสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาโดยไม่มีผู้ใดสงวนสิทธิหรือโต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งเจ้าของที่ดินได้ใช้ถนนซอยพานิชอนันต์มาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ย่อมตกอยู่ในภารจำยอม โจทก์ไม่ใช่ผู้สร้างถนนซอยพานิชอนันต์ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับถนนซอยดังกล่าวมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว เจ้าของที่ดินทั้ง 7 แปลง ที่ขายที่ดินแก่จำเลยในภายหลังนั้นได้ใช้ถนนซอยพานิชอนันต์ เป็นทางเข้าออก 20ถึง 30 ปีแล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และจำเลยซื้อที่ดินดังกล่าวมาโดยสุจริต จำเลยย่อมใช้ถนนซอยพานิชอนันต์ ในฐานะทางสาธารณประโยชน์หรือทางภารจำยอมได้จำเลยมิได้ละเมิดต่อโจทก์ฟ้องโจทก์เรื่องค่าเสียหายเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 5,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามจำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่59492, 103979 และ 36643 ถึง 36647 ตลอดจนบริวารใช้ที่ดินส่วนที่เป็นถนนในที่ดินโฉนดเลขที่ 23478 ตำบลคลองตัน(ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครของโจทก์ และห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องไม่ว่าด้วยประการใด ๆ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 23478แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร บางส่วนของที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของถนนซอยพานิชอนันต์ กว้าง 7 เมตรยาว 12 เมตร คือทางพิพาทคดีนี้ ทางพิพาทอยู่ห่างจากปากซอยพานิชอนันต์ ซึ่งอยู่ติดถนนซอยสุขุวิท 71 เข้าไปประมาณ 175 เมตรถัดจากทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ เมื่อ พ.ศ. 2516 จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 59488 จากนางเพิ่ม คล้ายศรี เนื้อที่ 3 ไร่2 งาน 42 ตารางวา ต่อมาจำเลยซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 7 แปลงเป็นที่ดินอยู่ติดต่อกับที่ดินจำเลยซื้อจากนางเพิ่มเมื่อรวมแล้วจะมีลักษณะเป็นที่ดินผืนเดียวกัน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งมีข้อที่ต้องพิจารณาคือ ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ โดยลักษณะของทางสาธารณะอาจเป็นได้ 2 กรณี คือ เจ้าของที่ดินอุทิศให้ทางสาธารณะ กับการที่มีประชาชนใช้สอยเป็นเวลานานโดยไม่มีการหวงห้าม เข้าลักษณะเป็นทางสาธารณะโดยปริยาย เรื่องนี้ข้อนำสืบของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือและเจือสมกับพยานจำเลย ฟังได้ว่าปากซอยพานิชอนันต์ ไม่มีป้ายบอกสงวนสิทธิไว้ จึงน่าเชื่อ ว่า จากปากซอยเข้าไป 175 เมตร เป็นทางสาธารณะ แม้จะฟังว่า โจทก์นำป้ายไปปักไว้และพ่นสีที่มีข้อความสงวนสิทธิ ตามภาพถ่ายหมาย จ.18ถึง จ.23 ก็เพียงแต่กระทำเฉพาะส่วนที่เป็นทางพิพาท ไม่ปรากฏว่าทำที่กั้นปิดเปิดตรวจสอบผู้ที่ใช้ทางนั้นว่าเป็นผู้ที่โจทก์อนุญาตหรือไม่ ส่วนฝ่ายจำเลยนอกจากจะมีตัวจำเลยแล้ว ยังมีพยานอื่นมาสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสมัคร ธันวานนท์ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองรังวัดและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพยานคนกลาง เพราะไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องฝ่ายใดเบิกความว่า ได้ตรวจสอบเอกสารของทางราชการ พบว่าทางราชการได้สอบปากคำผู้อยู่อาศัยในซอยนั้นจำนวน 5 ถึง 6 ราย เมื่อพ.ศ. 2522 บุคคลเหล่านั้นยืนยันว่า ใช้ทางเดินเข้าออกในซอยพานิชอนันต์ มาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โดยไม่มีการปิดกั้นซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยอ้างเอกสารบันทึกการสอบปากคำบุคคลดังกล่าว ตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 3 กรกฎาคม2534 เอกสารดังกล่าวจึงรับฟังได้ แม้นายสมัครจะตอบคำถามของโจทก์ว่า ที่ดินที่ได้จดทะเบียนเป็นสาธารณประโยชน์แล้วจะไปจดทะเบียนภารจำยอมอีกไม่ได้ แต่คดีนี้มิใช่เป็นเรื่องทางสาธารณะที่ได้มาทางนิติกรรม ทั้งนายสมัครก็เบิกความตอบคำถามติงว่าการขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะที่กรุงเทพมหานครนั้นอาจเป็นการอุทิศให้เป็นหนังสือหรือยกให้เป็นที่สาธารณะโดยปริยาย หรือโดยสภาพของการใช้สอยซึ่งประชาชนใช้สอยร่วมกัน และนายสมัครยังเบิกความต่อไปว่า ดูจากสภาพการใช้สอยแล้ว มีรถยนต์แล่นเข้าออกและประชาชนได้ใช้สอยอย่างเสรี พยาน มีความเห็นว่าซอยพานิชอนันต์น่าจะเป็นถนนสาธารณประโยชน์แล้ว พยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายสรุปได้ว่า จากปากซอยพานิชอนันต์ เข้าไป ตาม ถนนซอย ประมาณ 175 เมตรเป็นทางสาธารณะ ถัดจากทางพิพาทเข้าไปก็เป็นทางสาธารณะอีกส่วนหนึ่งและที่เป็นซอยแยกก็เป็นทางสาธารณะด้วย ลักษณะการใช้สอยทางพิพาทของประชาชนปรากฏว่าใช้มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะโดยปริยายเมื่อฟังว่าเป็นทางสาธารณะแล้ว ประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยมีสิทธิใช้สอยได้ ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายและห้ามมิให้จำเลยใช้ทางพิพาท
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share