แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีข้อสัญญาว่า เมื่อครบกำหนด12 เดือนแล้วไม่มีการต่ออายุสัญญากันใหม่ให้ถือว่าต่อสัญญากันอีกคราวละ 6 เดือนก็ตาม แต่หลังจากครบกำหนด 12 เดือนแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีหรือโจทก์ยินยอมให้เบิกได้ คงมีแต่รายการโจทก์นำยอดดอกเบี้ยเข้าทบต้นเดือนละครั้ง จำเลยไม่ได้เบิกเงินหรือนำเงินเข้าฝากในบัญชีเลย จึงถือได้ว่าคู่กรณีได้ตกลงเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีโดยปริยายตั้งแต่วันครบกำหนดตามสัญญาและโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันดังกล่าวแล้วเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2521 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2522 จำเลยได้เปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 287 ไว้กับโจทก์ และได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินไม่เกิน 35,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี มีกำหนด 12 เดือนเมื่อครบกำหนดแล้วไม่มีการต่อสัญญากันใหม่ ตกลงกันว่าให้ต่ออายุสัญญาไปอีกคราวละ 6 เดือนตลอดไป จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์ได้เพียงบางส่วน ยังคงเป็นหนี้เงินกู้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย 98,997.60 บาท ส่วนหนี้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เดินสะพัดบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา จนครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 มีเงินเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2524 จำนวน2,436.48 บาท หักทอนบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยทบต้นซึ่งคิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 107,879.24 บาทรวมแล้วจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 2 จำนวน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น206,876.84 บาท โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 206,876.84 บาทพร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 98,997.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินดังกล่าวให้ยึดที่ดินโฉนดที่ 5800 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอก็ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญากู้เงินเพียง 87,500 บาท นอกจากหนี้จำนวนนี้แล้วจำเลยที่ 2 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้อื่นที่โจทก์ฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินกู้ 49,000 บาทดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวคิดตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม 2524 จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์ และให้จำเลยที่ 1ชำระต้นเงินเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 43,965 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ19 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวคิดตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2524และขึ้นลงตามประกาศอัตราใหม่ จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เฉพาะหนี้เงินกู้โดยให้ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยคิดตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2524 จนถึงวันชำระเสร็จถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินสุทธิเป็น 2 ส่วนเท่ากัน ส่วนของจำเลยที่ 2ให้จัดชำระหนี้เงินกู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 อีกกึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ให้จัดชำระหนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ให้สิทธิจำนองครอบต้นเงินจำเลยทั้งสองคนละ 25,000 บาทรวมทั้งดอกเบี้ยด้วย ส่วนที่เกินจากนั้นถือเป็นหนี้สามัญที่ไม่มีจำนองเป็นประกันซึ่งเจ้าหนี้อื่นมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยได้ ถ้าไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองชำระหนี้จนครบจำนวน
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินที่จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดชำระหนี้เงินกู้49,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าชำระเสร็จ ส่วนหนี้เบิกเงินเกินบัญชีถือเป็นหนี้สามัญไม่มีที่ดินจำนองเป็นประกัน หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จนครบจำนวน
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2522ในวงเงิน 35,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทบต้นตามประเพณีธนาคาร มีกำหนด 12 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วไม่มีการต่ออายุสัญญากันใหม่ให้ถือว่าได้ตกลงให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญานี้ต่อไปอีกคราวละ 6 เดือนตลอดไป เห็นว่า แม้มีข้อสัญญาว่าเมื่อครบกำหนด 12 เดือนแล้วไม่มีการต่ออายุสัญญากันใหม่ให้ถือว่าต่อสัญญากันอีกคราวละ 6 เดือนก็ตาม แต่หลังจากครบกำหนด 12 เดือนเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2523 แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เบิกเงินจากบัญชีหรือโจทก์ยินยอมให้เบิกได้ ตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมายจ.8 ปรากฏว่ามีแต่รายการโจทก์นำยอดดอกเบี้ยเข้าทบต้นเดือนละครั้งจนถึงปี พ.ศ. 2529 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เบิกเงินหรือนำเงินเข้าฝากในบัญชีเลย มีการโอนเงิน (TR) เข้าบัญชีเพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่30 มิถุนายน 2524 จำนวน 2,436.48 บาท ก็ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้โอนเข้าบัญชีโดยประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปจึงถือได้ว่าคู่กรณีได้ตกลงเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีโดยปริยายตั้งแต่วันครบกำหนดตามสัญญา คือวันที่ 3 สิงหาคม 2523 และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันดังกล่าวแล้วเท่านั้นแต่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่30 ธันวาคม 2524 จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ จำเลยจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยทบต้นไม่เกินกว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
พิพากษายืน