คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้วายชนม์ไว้แล้วโดยมิได้จำกัดอำนาจของผู้จัดการมรดก การที่ผู้ร้องมาร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้วายชนม์อีกจึงเป็นการร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกซ้อนกัน แม้จะเป็นการร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมต่างฉบับกันก็เป็นการขอจัดการมรดกรายเดียวกัน ศาลไม่รับคำร้อง.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของพลตรีสงวน โรจนวงศ์ ศาลชั้นต้นรับคำร้องแล้วต่อมาทราบว่าศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้ไว้แล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 18529/2530 ของศาลชั้นต้น การร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องจึงซ้ำกับคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับคำร้อง ให้จำหน่ายคดี
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ผู้ร้องฎีกาว่า การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกคดีนี้ไม่ซ้ำกับการจัดการมรดกในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 18529/2530 ของศาลชั้นต้น เพราะคดีนี้เป็นการร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรม ฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2515ซึ่งผู้รับมรดกเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1651 (1) ส่วนในคดีดังกล่าวเป็นการร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรม ฉบับลงวันที่ 3 กันยายน 2520ซึ่งผู้รับมรดกเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะตามบทมาตราดังกล่าว (2) พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้กับคดีดังกล่าวเป็นการร้องขอจัดการมรดกของพลตรีสงวน โรจนวงศ์ ผู้วายชนม์ด้วยกันเมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้วายชนม์ไว้แล้วโดยมิได้จำกัดอำนาจของผู้จัดการมรดกไว้เฉพาะแต่ทรัพย์สินบางอย่าง ดังนั้นทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องขอจัดการนั้นก็เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกในคดีเดิมที่จะต้องดำเนินการอยู่แล้ว ผู้ร้องอาจจะขอให้ผู้จัดการมรดกในคดีเดิมดำเนินการให้ได้ การที่ผู้ร้องมาร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้วายชนม์อีก ดังนี้ จึงเป็นการร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกซ้อนกัน แม้คดีแรกกับคดีนี้จะเป็นการร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมต่างฉบับกันดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างมาตามฎีกา ก็เป็นการขอจัดการมรดกรายเดียวกัน…’
พิพากษายืน.

Share