คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4717/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกล่าวอ้างมาในคำขอให้พิจารณาใหม่ว่า จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีล้มละลาย การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องรวมตลอดถึงการแจ้งวันนัดพิจารณาและคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้แก่จำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ตามสถานที่ดังที่โจทก์ระบุในฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้รับหมายดังกล่าว และไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีจำเลยทั้งสองไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณาแม้กรณีตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยจะเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าพฤติการณ์นั้นได้เริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด เพราะจำเลยทั้งสองเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า เพิ่งจะทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีล้มละลายเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ระบุให้แน่ชัดว่าทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อใดและจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบหรือไม่ คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้จงใจไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 ซึ่งนำมาใช้บังคับแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 บัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาในการยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ไว้ในวรรคหนึ่งว่า “คำขอให้พิจารณาใหม่นั้นให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้ โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามคำกำหนดนั้นแล้วอนึ่งถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่บัญญัติไว้ข้างบนนี้โดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น” ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในกรณีคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง คดีนี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างมาในคำขอให้พิจารณาใหม่ว่าจำเลยทั้งสองเพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีล้มละลาย การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง รวมตลอดถึงการแจ้งวันนัดพิจารณาและคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้แก่จำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ตามสถานที่ดังที่โจทก์ระบุในฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้รับหมายดังกล่าว และไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี จำเลยทั้งสองไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา ดังนี้ แม้กรณีตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสองจะเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฎว่าพฤติการณ์นั้นได้เริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด ทั้งนี้เพราะจำเลยทั้งสองเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า เพิ่งจะทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีล้มละลายเท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ระบุให้แน่ชัดว่าทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อใด และจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบหรือไม่ คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208
พิพากษายืน

Share