แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน เมื่อ ณ. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่าง ณ. และโจทก์ย่อมสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501
เงินชดเชยที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ. และได้รับมาหลังจาก ณ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว ไม่เป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยา ทั้งสิทธิที่จะได้เงินค่าชดเชยนี้มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. ได้มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรมจึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ ณ. เมื่อระเบียบของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างกำหนดให้ต้องนำเงินชดเชยมาหักหนี้สินที่ ณ. สามีโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีต่อจำเลยที่ 2 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะหักหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตายกับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องมีการนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตายไม่
สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ. ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่ความตาย แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาผู้ตายจะต้องเคยชำระเงินในอัตรา 10 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 ราย ร่วมกับพนักงานของจำเลยที่ 2 คนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมนำส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่ความตายรายก่อน ๆ ก็ตาม ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ. ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของ ณ. จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง
เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่าง ณ. กับบุคคลภายนอกและจำเลยที่ 2 เพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ คือ จำเลยที่ 1 สืบเนื่องจากความมรณะของณ. อันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของ ณ. ที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย
แม้สัญญาประกันชีวิตที่ ณ. ระบุให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยจำนวนดังกล่าว แต่โจทก์ฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิตว่าโจทก์มีสิทธิกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของ ณ. ที่จะตกแก่ทายาท ดังนี้ฎีกาของโจทก์ในส่วนเบี้ยประกันภัย จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายณรงค์ชัย อุระสุขจำเลยที่ 1 เป็นมรดกของนายณรงค์ชัย จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 และเป็นผู้บังคับบัญชาของนายณรงค์ชัย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 นายณรงค์ชัยถึงแก่กรรมโดยมีสินสมรสเป็นเงินกู้ยืมที่นายณรงค์ชัยกู้มาจากจำเลยที่ 2 จำนวน 271,106.95 บาทเงินกู้ที่โจทก์กู้มาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด จำนวน 180,950 บาทเงินชดเชยและผลประโยชน์ของผู้ตายจำนวน 85,380 บาท เงินกองทุนเลี้ยงชีพจำนวน25,490.43 บาท เงินเพื่อช่วยเพื่อนจำนวน 85,000 บาท และเงินประกันชีวิตของผู้ตายจำนวน 100,000 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของผู้ตายที่แบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันนำเงินชดเชยและผลประโยชน์ของผู้ตายกับเงินกองทุนเลี้ยงชีพรวมเป็นเงิน 110,870.43 บาทที่นายณรงค์ชัยมีสิทธิได้รับไปหักชำระหนี้ที่นายณรงค์ชัยมีอยู่ต่อจำเลยที่ 2 กับมอบเงินเพื่อนช่วยเพื่อนและเงินประกันชีวิตของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว โดยไม่มีการแบ่งเป็นสินสมรสและมรดกให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก่อน และจำเลยที่ 1 ยังปิดบังเงินช่วยงานศพจำนวน 50,000 บาทเศษ ซึ่งเป็นกองทุนมรดกของผู้ตาย นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังเรียกให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 แทนนายณรงค์ชัยไปบางส่วนด้วยการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการหลอกลวงให้โจทก์รับภาระในหนี้เพียงผู้เดียว กับเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก เงินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หักชำระหนี้รวมกับเงินที่ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 295,870.43 บาท กับเงินที่โจทก์ชำระหนี้แทนนายณรงค์ชัย จำนวน 20,550บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 316,420.43 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามคืนเงินจำนวนดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน316,420.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์และร่วมกับโจทก์เพื่อแบ่งสินสมรสและมรดก กับหักชำระหนี้ให้ถูกต้องต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์กับนายณรงค์ชัย อุระสุขเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2534 ไม่มีบุตรด้วยกันจำเลยที่ 1 เป็นมารดาของนายณรงค์ชัย จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการธนาคารโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 นายณรงค์ชัยเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 นายณรงค์ชัย ถึงแก่กรรมทำให้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยจำนวน 85,380 บาท เงินกองทุนเลี้ยงชีพ จำนวน 25,490.43 บาท เงินเพื่อนช่วยเพื่อนจำนวน 85,000 บาท และเงินประกันชีวิต จำนวน 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น295,870.43 บาท จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 นำเงินชดเชยและเงินกองทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวไปชำระหนี้ที่นายณรงค์ชัยเป็นหนี้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนและเงินประกันชีวิตมาแล้ว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เงินชดเชยเงินกองทุนเลี้ยงชีพ เงินเพื่อนช่วยเพื่อน และเงินประกันชีวิตดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายณรงค์ชัยกับโจทก์ และเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งบ้างหรือไม่ จะได้วินิจฉัยเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่เงินชดเชยจำนวน 85,380 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงินที่เกิดขึ้นตามสิทธิและผลประโยชน์ตามกฎหมายแรงงาน จึงเป็นสินสมรสและเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภรรยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่นายณรงค์ชัยถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่างนายณรงค์ชัยกับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 ฉะนั้น เงินชดเชย ซึ่งเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายณรงค์ชัย และได้รับมาหลังจากนายณรงค์ชัยถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างนายณรงค์ชัยกับโจทก์
ส่วนเงินชดเชยนี้จะเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เป็นมรดกของผู้ตายนั้น ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านี้จะต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่สิทธิที่จะได้เงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายณรงค์ชัย มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่นายณรงค์ชัยมีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม จึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของนายณรงค์ชัยเช่นเดียวกัน บุคคลผู้มีสิทธิรับเงินชดเชยและเงื่อนไขการจ่ายเงินจึงต้องเป็นไปตามระเบียบที่จำเลยที่ 2 กำหนด เมื่อระเบียบของจำเลยที่ 2 กำหนดให้ต้องนำเงินชดเชยมาหักหนี้สินที่นายณรงค์ชัยมีต่อจำเลยที่ 2 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะหักหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อปรากฏว่าหลังจากหักหนี้สินแล้วไม่มีเงินเหลืออยู่อีกเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินชดเชยนี้
สำหรับเงินกองทุนเลี้ยงชีพ จำนวน 25,490.43 บาท โจทก์ยอมรับว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายณรงค์ชัย แต่โต้แย้งว่าทรัพย์มรดกดังกล่าวต้องหักชดใช้สินสมรสระหว่างโจทก์กับนายณรงค์ชัยครึ่งหนึ่งก่อน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเป็นเงิน 12,745.21บาท เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตายกับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องมีการนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตายไม่ และโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าเงินกองทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวโจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปชำระหนี้เงินที่ผู้ตายกู้ยืมจำเลยที่ 2 ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินกองทุนเลี้ยงชีพ
สำหรับเงินเพื่อช่วยเพื่อน จำนวน 85,000 บาท โจทก์อ้างว่าเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยเพราะเป็นเงินที่นายณรงค์ชัยยินยอมให้จำเลยที่ 2 หักเงินเดือนของผู้ตายในอัตรา 10 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 ราย เพื่อนำส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมนั้น เห็นว่า สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายณรงค์ชัย มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่นายณรงค์ชัยมีอยู่แล้ว ในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มานายณรงค์ชัยจะต้องเคยชำระเงินในอัตรา 10 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 ราย ร่วมกับพนักงานของจำเลยที่ 2 คนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมนำส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็ตาม ก็มิใช่เป็นมรดกของนายณรงค์ชัย โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง
ส่วนเงินประกันชีวิตจำนวน 100,000 บาท นั้น โจทก์อ้างว่านายณรงค์ชัยชำระเบี้ยประกันภัยโดยการให้จำเลยที่ 2 หักเงินจากเงินทุนเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้นายณรงค์ชัยทุกปีเป็นจำนวน 418 บาทต่อปี ตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปี 2536 ที่นายณรงค์ชัยถึงแก่กรรมรวม 8 ปี เป็นเงิน 3,344 บาท เบี้ยประกันภัยจำนวน 3,344 บาท ดังกล่าวจึงเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยที่โจทก์มีสิทธิขอแบ่ง เห็นว่า เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและจำเลยที่ 2 เพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์คือ จำเลยที่ 1 สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า เงินเบี้ยประกันชีวิตที่ผู้ตายให้หักจากเงินทุนเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 2จ่ายแทนให้ผู้ตายทุกปีเป็นเงิน 418 บาท ต่อปี ตั้งแต่ปี 2529 ถึงปี 2536 รวม 8 ปีเป็นเงิน 3,344 บาท จึงเรียกเบี้ยประกันชีวิตจำนวน 3,344 บาท โดยอ้างว่า เป็นมรดกของผู้ตายที่โจทก์มีสิทธิขอแบ่งนั้น แม้สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่า เฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยจำนวน 3,344 บาท ดังกล่าว โดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิตจำนวน 100,000 บาท ว่าโจทก์มีสิทธิกึ่งหนึ่งส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของผู้ตายที่จะตกแก่ทายาท แต่จำเลยที่ 2มอบเงินประกันชีวิตแก่จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นการไม่ชอบ ในส่วนเบี้ยประกันภัยจำนวน 3,344 บาท จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน