คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4695/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้โจทก์นำสืบมูลที่มาของหนี้ตามสัญญากู้ว่าเดิมมีอยู่อย่างไรและเหตุใดจึงมีจำนวนหนี้ดังกล่าวตามที่จำเลยขีดฆ่าและลงชื่อกำกับไว้ก่อนที่จะมีการแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นมีความเป็นมาอย่างไรมิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94 แม้สัญญากู้ยืมจะเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรจึงจะอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้แต่ในกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้และจำเลยให้การรับว่าเป็นหนี้จริงโจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องอ้างสัญญากู้ยืมเป็นพยานหลักฐาน จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่หลายจำนวนและได้ชำระหนี้ให้โจทก์เกินกว่าหนี้ที่ต้องชำระอยู่จำนวนหนึ่งจึงให้นำเงินจำนวนดังกล่าวชำระหนี้ซึ่งถึงกำหนดชำระก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา328

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยืมเงินโจทก์รวม 3 ครั้ง จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2532จำนวนเงิน 250,000 บาท และเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2533จำนวนเงิน 300,000 บาท โดยยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีต่อมาจำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้องจริง แต่ได้ชำระครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันกู้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า จำเลยเคยยืมเงินโจทก์หลายครั้ง และได้ทำหลักฐานไว้เป็นหนังสือรวม 3 ครั้ง คือเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ตามเอกสารหมาย จ.1 เดิมลงจำนวนเงินไว้ 408,000 บาท ต่อมาแก้ไขเป็น 100,000 บาท โดยจำเลยลงชื่อกำกับไว้ และเอกสารหมายจ.3 เดิมลงจำนวนเงินไว้ 80,000 บาท ต่อมาแก้ไขเป็น300,000 บาท โดยจำเลยลงชื่อกำกับไว้เช่นเดียวกัน ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2535 โจทก์ยอมรับรถยนต์ของภริยาจำเลยตีใช้หนี้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 140,000 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือ จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาประการแรกว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำนวน 100,000 บาท โจทก์จะนำสืบว่าความจริงกู้ยืมเงินกัน 408,000 บาท ไม่ได้นั้น เห็นว่าการนำสืบมูลที่มาของหนี้จำนวน 100,000 บาทว่าเดิมมีอยู่อย่างไรและเหตุใดจึงมีจำนวนหนี้ตามเอกสาร 100,000 บาท ตามที่จำเลยขีดฆ่าและลงลายมือชื่อกำกับไว้โจทก์มีสิทธิ์นำสืบได้ว่าก่อนที่จะมีการแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นมีความเป็นมาอย่างไรมิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.1 ติดอากรแสตมป์สำหรับหนี้เงินกู้จำนวน100,000 บาท เท่านั้น จึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อดังที่โจทก์นำสืบว่ามีการกู้ยืมเงินกันในวันทำสัญญา 408,000 บาท แต่ควรจะฟังว่าในวันทำสัญญามีการกู้ยืมเงินกันเพียง 100,000 บาท ดังที่จำเลยนำสืบนั้น เห็นว่า แม้ว่าสัญญากู้ยืมจะเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ตามประมวลรัษฎากรจึงจะอ้างเป็นพยานหลักบานในคดีแพ่งได้แต่ในกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้และจำเลยให้การรับว่าเป็นหนี้จริงเช่นในกรณีนี้โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องอ้างสัญญากู้ยืมเป็นพยานหลักฐานคงมีข้อที่ต้องพิจารณาว่าเอกสารหมาย จ.1 มีพิรุธดังที่จำเลยอ้างในฎีกาหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังว่าข้อเท็จจริงน่าเชื่อดังที่โจทก์นำสืบว่า การกู้ยืมตามเอกสารหมายจ.1 เป็นเงินจำนวน 408,000 บาท เมื่อได้รับชำระหนี้บางส่วนแล้วจึงแก้ไขจำนวนเงินเป็น 100,000 บาท ที่จำเลยยังคงค้างชำระอยู่ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม โจทก์นำสืบว่า หนี้ตามสัญญากู้หมาย จ.1จำนวน 100,000 บาท มีขึ้นจากที่จำเลยนำเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 10 ครั้ง และตีราคารถยนต์ชำระหนี้อีก 140,000 บาท แม้โจทก์จะไม่ยอมรับว่าจำนวนเงินตามเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 4 และที่ 12 เป็นเงินที่จำเลยชำระหนี้เกี่ยวกับคดีนี้ แต่โจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าจำเลยได้จ่ายเงินจำนวน 269,000 บาท เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้หมาย จ.1 ซึ่งมากกว่าที่จำเลยนำสืบว่าได้ชำระเงินตามเอกสารหมายจ.7 ให้แก่โจทก์ 500 บาท เมื่อนำไปรวมกับเงินจำนวน140,000 บาท ที่จำเลยตีราคารถยนต์ชำระหนี้แล้ว เป็นเงินจำนวน409,000 บาท มากกว่าหนี้ตามสัญญากู้หมาย จ.1 ถึง 1,000 บาท จึงให้นำเงินจำนวน 1,000 บาท ดังกล่าวชำระหนี้ตามสัญญาหมาย จ.1ซึ่งถึงกำหนดชำระก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328ดังนั้นหนี้ที่จำเลยยังคงค้างชำระตามสัญญากู้ 3 ฉบับ จึงมีเพียง649,000 บาทเท่านั้น ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่กู้ยืมเป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน649,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน99,000 บาทนับแต่วันที่ 4 เมษายน 2532 ในต้นเงิน250,000 บาท นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2532 และในต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยในต้นเงิน 99,000 บาท นับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 56,299.32 บาทในต้นเงิน 250,000 บาท นับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 64,929.84 บาท และในต้นเงิน 300,000 บาท นับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 71,938.08 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share