แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมและค้ำประกันกับโจทก์ตามลำดับ จำเลยทั้งสองรู้และยินยอมให้โจทก์คำนวณดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมเข้าเป็นเงินต้นด้วยนั้น เป็นนิติกรรมที่มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง สัญญากู้ยืมและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้หาเป็นโมฆะทั้งฉบับไม่ เฉพาะดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและนำไปคำนวณเป็นเงินต้นเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ
การที่จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดกรณีเป็นการชำระหนี้โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้นำเงินดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วดังกล่าวมาหักชำระหนี้เงินต้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 170,000 บาท จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินเลขที่ 1156 ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ไว้ต่อโจทก์หลังจากจำเลยที่ 1 กู้เงินไปแล้วไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้น 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินต้นโจทก์ 93,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย สัญญากู้จึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินต้น 122,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2530 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์จำนวน 23,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนนับแต่กู้เงินจำเลยที่ 1ไม่เคยชำระเงินต้นคืน แต่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 12,500 บาทต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์อีก 100,000 บาท แต่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้ระบุในหนังสือสัญญากู้ยืมว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์จำนวน170,000 บาท โดยนำเงินต้นตามการกู้เดิมจำนวน 23,000 บาท กับดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 47,000 บาท ซึ่งคิดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน มารวมกับเงินต้นที่กู้ใหม่อีก 100,000 บาท เป็นเงินต้นทั้งสิ้น 170,000 บาท และตกลงกันให้ระบุในหนังสือสัญญากู้เงินด้วยว่า คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ความจริงแล้วโจทก์คิดจากจำเลยร้อยละ 3 ต่อเดือน ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 รู้เห็นและยินยอมเกี่ยวกับการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวโดยตลอดได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ต่อมาระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน 2534 จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์รวม 4 ครั้งเป็นเงิน 20,400 บาท และชำระต้นเงิน 1,000 บาท
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกมีว่า สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 ที่นำเอาดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมเป็นยอดเงินต้นด้วยนั้น สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะทั้งฉบับหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมและค้ำประกันโดยรู้อยู่แล้วและยินยอมให้โจทก์คำนวณดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเข้าเป็นเงินต้นด้วยนั้นเป็นการทำนิติกรรม มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง สัญญากู้ยืมและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้หาเป็นโมฆะทั้งฉบับไม่ ส่วนดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งนำไปคำนวณเป็นเงินต้นนั้นเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะเฉพาะส่วนของดอกเบี้ยไม่มีผลบังคับใช้เป็นสัญญากู้ยืมและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่าจำนวนเงินดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ไปแล้วจะนำมาหักจากยอดเงินต้นได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1ได้ชำระดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการชำระหนี้โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้นำเงินดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วดังกล่าวมาหักชำระหนี้เงินต้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน