คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ และไม่ต้องทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือจึงอาจเกิดจากการแสดงเจตนา โดยแจ้งชัดหรือตามพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันเห็นได้ว่ามีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันแล้ว
ตามคำขอใช้บริการของจำเลย มีข้อตกลงการสั่งจ่ายเงินและการถอนเงินว่า ในการสั่งจ่ายหรือถอนเงินให้ใช้เช็คซึ่งธนาคารมอบให้ใช้สำหรับแต่ละบัญชีโดยเฉพาะเท่านั้น และในกรณีที่ธนาคารโจทก์ได้ผ่อนผันการจ่ายเงินไปก่อนด้วยเหตุใดก็ตามทั้งที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค ซึ่งตามปกติธนาคารโจทก์จะปฏิเสธการจ่ายเงินเสียก็ได้ หรือในกรณีผู้ฝากนำเช็คเข้าบัญชีและในวันนำฝากนั้น ธนาคารโจทก์ได้ผ่อนผันจ่ายเงินส่วนหนึ่งหรือเต็มมูลค่าเช็คนั้นให้ไปก่อน โดยที่ธนาคารโจทก์ยังไม่ทราบผลการเรียกเก็บ จำเลยผู้ฝากยอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่ธนาคารโจทก์ผ่อนผันจ่ายไปนั้นคืนให้แก่ธนาคารโจทก์ โดยถือเสมือนว่าผู้ฝากเป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่ตามบัญชีเดินสะพัด และ หรือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารโจทก์ และยินยอมเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นให้แก่ธนาคารโจทก์ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ยืม นับแต่วันที่เป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่ตามบัญชีเดินสะพัดและ หรือเบิกเงินเกินบัญชี ตามวิธีและประเพณีของธนาคาร หลังจากมีคำขอดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ถอนเงินและฝากเงินมีการหักทอนบัญชีและคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนมาโดยตลอด ทั้งโจทก์ได้ส่งใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดไปยังจำเลยเช่นนี้ฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยได้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 แล้ว หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยเกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 ไม่
สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้น คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใด ๆ ก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 การเลิกสัญญาดังกล่าวอาจแสดงเจตนาโดยแจ้งชัดหรือโดยพฤติการณ์
หลังจากจำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายแล้วจากนั้นคงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกหรือถอนเงินต่อไป ทั้งจำเลยก็มิได้นำเงินเข้าบัญชีอีก พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเป็นอันสิ้นสุดในวันอันเป็นวันครบกำหนดหักทอนบัญชีกันเดือนละครั้งตามที่ปฏิบัติต่อกันมาโดยตลอด หลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นได้อีก คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่ตกลงกันมาตั้งแต่แรกจากเงินต้นจำนวนที่จำเลยค้างชำระในวันดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่จะเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ เพราะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 199/33(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 695,169.97 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ในต้นเงิน 600,248.52 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยให้การว่า จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์แต่ไม่มีข้อตกลงหรือสัญญาการกู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์กำหนดให้จำเลยต้องใช้เช็คเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินเท่านั้น จำเลยไม่ได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์บัญชีกระแสรายวันดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาการหักทอนบัญชีกันไว้ โจทก์หักทอนบัญชีและเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้พ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยเป็นหนี้ต้นเงินโจทก์ในรายการถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2531 เพียง 166,180.68 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งดอกเบี้ยส่วนที่ค้างชำระเกินกว่า5 ปี ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 600,248.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 เมษายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 157,549.17 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี โดยนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ยื่นคำขอใช้บริการของธนาคารโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4/1 จริง

คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยได้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดไว้กับโจทก์หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 บัญญัติว่า “อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน อันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบและไม่ต้องทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือ อาจจะเกิดจากการแสดงเจตนาโดยแจ้งชัดหรือตามพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันเห็นได้ว่ามีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันแล้ว ตามคำขอใช้บริการของจำเลยเอกสารหมาย จ.4/1 มีข้อตกลงการสั่งจ่ายเงินและการถอนเงินในข้อ 1 ว่า ในการสั่งจ่ายหรือถอนเงินให้ใช้เช็คซึ่งธนาคารมอบให้ใช้สำหรับแต่ละบัญชีโดยเฉพาะเท่านั้น และในข้อ 8 มีความว่า ในกรณีที่ธนาคารได้ผ่อนผันการจ่ายเงินไปก่อนด้วยเหตุใดก็ตามทั้งที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค ซึ่งตามปกติธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินเสียก็ได้หรือในกรณีผู้ฝากนำเช็คเข้าบัญชีและในวันนำฝากนั้น ธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินส่วนหนึ่งหรือเต็มมูลค่าเช็คนั้นให้ไปก่อน โดยที่ธนาคารยังไม่ทราบผลการเรียกเก็บผู้ฝากยอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่ธนาคารผ่อนผันจ่ายไปนั้นคืนให้แก่ธนาคาร โดยถือเสมือนว่าผู้ฝากเป็นหนี้ธนาคารอยู่ตามบัญชีเดินสะพัด และ หรือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคาร และยินยอมเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นให้แก่ธนาคารในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ยืมในอัตรา นับแต่วันที่เป็นหนี้ธนาคารอยู่ตามบัญชีเดินสะพัด และ หรือเบิกเงินเกินบัญชี ตามวิธีและประเพณีของธนาคารนอกจากคำขอดังกล่าวแล้วยังได้ความจากคำเบิกความของนายศิริพงศ์พงษ์พิบูลย์ พยานโจทก์ว่า หลังจากมีคำขอดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ถอนเงินและฝากเงินมีการหักทอนบัญชีและคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนมาโดยตลอดตามเอกสารหมาย จ.14 ทั้งโจทก์ได้ส่งใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดไปยังจำเลย ซึ่งในเรื่องนี้จำเลยก็เบิกความรับตอนตอบคำถามค้านว่าได้รับใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดจากโจทก์ แต่ไม่ทุกเดือนเนื่องจากจำเลยได้ย้ายที่อยู่หลายครั้ง ทั้งจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยเคยคัดค้านใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัด พยานโจทก์มีน้ำหนักกว่าพยานจำเลย ฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยได้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยไม่ใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัดแต่เป็นเรื่องที่โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยเกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้น คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใด ๆ ก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 859 การเลิกสัญญาดังกล่าวอาจแสดงเจตนาโดยแจ้งชัดหรือโดยพฤติการณ์ ตามทางนำสืบโจทก์จำเลยได้ความว่า จำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532 จำนวน 2,040.67 บาท หลังจากนั้นคงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกหรือถอนเงินต่อไป ทั้งจำเลยก็มิได้นำเงินเข้าบัญชีอีกพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเป็นอันสิ้นสุดในวันที่ 30เมษายน 2532 อันเป็นวันครบกำหนดหักทอนบัญชีกันเดือนละครั้งตามที่ปฏิบัติต่อกันมาโดยตลอด จำเลยจึงค้างชำระยอดเงินตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.14 เป็นเงิน 179,572.87 บาท หลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นได้อีก คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ17 ต่อปี เพราะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันมาตั้งแต่แรกจากเงินต้นจำนวนดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่จะเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ เพราะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 199/33(1)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 179,572.87 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share