แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของผู้ขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยวินิจฉัยว่าเครื่องหมาย-การค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงยกคำคัดค้านของโจทก์และให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของจำเลย เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลย จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ชอบที่จะให้จดทะเบียนได้ ฉะนั้น ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นในการชี้สองสถานไว้ว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ย่อมมีความหมายจำกัดเฉพาะในประเด็นที่โต้เถียงกันในคำฟ้องคำให้การเท่านั้น กล่าวคือ มีประเด็นว่าคำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมายเพราะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ นั่นเอง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนได้มีการจดทะเบียนในต่างประเทศ ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาแล้วในต่างประเทศโดยสุจริต แม้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันก็ตาม นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมรับจดทะเบียนได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2478 มาตรา 18 คำวินิจฉัยของจำเลย จึงชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนได้มีการจดทะเบียนในต่างประเทศ ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาแล้วในต่างประเทศโดยสุจริต นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมรับจดทะเบียนได้ จึงพิพากษายกฟ้อง แม้โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็น แต่จำเลยก็ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ในประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขดจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ดังนี้เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็น ศาลอุทธรณ์จึงได้วินิจฉัยต่อไป ในประเด็นที่ว่าเครื่องการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ แล้วพิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของผู้ขอจดทะเบียนประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่นี้จึงยังไม่ยุติ จำเลยชอบที่จะฎีกาต่อมาได้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 นั้นมีส่วนประกอบสามส่วนคือ ส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง ส่วนบนเป็นอักษรโรมัน คำว่า “ANCHOR BRAND” ในลักษณะโค้งเลี้ยวเป็นวงกลมคว่ำลง ส่วนกลางเป็นรูปสมอเรือ และส่วนล่างเป็นอักษรภาษาไทยว่า “ตราสมอ” สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 นั้น มีสองส่วน ส่วนบนเป็นรูปสมอเรือ (ไม่มีโซ่) ส่วนล่างเป็นตัวอักษรโรมันว่า “SPERA” ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น มีอักษรโรมันสองคำ อยู่ตรงบรรทัดเดียวกัน คำหนึ่งว่า “ULYSSE” อีกคำหนึ่งว่า”NARDIN” ระหว่างคำทั้งสองนี้มีรูปภาพสมอเรือตั้งเอียงไปทางขวาเล็กน้อยในลักษณะภาพสมอเรือเองตัดกับอักษรโรมันเป็นรูปกากบาท ฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.2กับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย ล.1 แล้วจะเห็นได้ว่าลักษณะโครงสร้างหรือการวางรูปของเครื่องหมายการค้าทั้งสองรายนี้ต่างกันมากรูปสมอเรือก็ต่างกันมากทั้งลายเส้น แนวตั้ง และส่วนประกอบที่มีโซ่กับไม่มีโซ่ อักษรโรมันเป็นคนละคำ และวางอยู่คนละตำแหน่ง ลักษณะการวางของโจทก์เป็นบรรทัดโค้ง ส่วนของผู้ขอจดทะเบียนเป็นบรรทัดตรงทั้งการที่ของโจทก์มีอักษรภาษาไทย ส่วนของผู้ขอจดทะเบียนไม่มีอักษรภาษาไทย ย่อมเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 กับเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปสมอเรือ (ไม่มีโซ่) ตั้งอยู่บนข้อความอักษรโรมันว่า “SPERA” ส่วนของผู้ขอจดทะเบียนมีลักษณะรูปกากบาทระหว่างรูปสมอเรือตัดกับอักษรโรมันรูปสมอเรือของโจทก์เป็นรูปภาพเหมือนตั้งตรงของผู้ขอจดทะเบียนเป็นภาพสเก็ตตั้งเอียง ข้อควมอักษรโรมันก็เป็นคนละคำ จึงแตกต่างกันทั้งในภาพรวม ตัวรูปสมอเรือ การวางรูป และข้อความภาษาโรมันเครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้จึงไม่คล้ายกันอีกเช่นกัน