แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติ ประมวลรัษฎากร มาตรา 122 ได้บัญญัติว่า “ผู้ใดได้เสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไปไม่น้อยกว่า 2 บาท สำหรับตราสารลักษณะเดียวหรือเรื่องเดียวผู้นั้นชอบที่จะทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิบดีเห็นว่าเกินไปจริงก็ให้คืนค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรที่เกินไปนั้นแก่ผู้เสียหายอากรได้ แต่คำร้องที่กล่าวนั้นจะต้องยื่นภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรหรือค่าเพิ่มอากร…” การที่บทกฎหมายดังกล่าวใช้คำว่า “ผู้ใดได้เสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไป” นั้น เจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่ผู้มีหน้าที่ต้องเสียอากรหรือเสียค่าเพิ่มอากรของผู้มีหน้าที่ต้องเสียตามที่กฎหมายกำหนด “เกินไป” เท่านั้น มิได้มีเจตนาให้ตีความขยายรวมไปถึงผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือผู้ที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บอากรไปโดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าอากรด้วยไม่ เพราะหากกฎหมายมีเจตนาให้ขยายรวมไปถึงผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือผู้ที่ถูกเจ้าพนักงานเรียกเก็บอากรไปโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าอากรด้วยแล้วกฎหมายก็จะต้องบัญญัติข้อความดังกล่าวลงในตัวบทกฎหมายให้ชัดเจน เมื่อรายรับของโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าอากรการขอคืนค่าอากรจากจำเลยในเรื่องระยะเวลาจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 122 แห่งบทบัญญัติประมวลรัษฎากร และไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 27 ตรี ซึ่งเป็นเรื่องการขอคืนภาษีอากรซึ่งจะต้องยื่นขอคืนนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดด้วย โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนค่าอากรจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 10 มีนาคม 2536 สำนักงานที่ดิน จังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาทุ่งสง ได้เรียกเก็บเงินค่าอากรแสตมป์จากโจทก์ไว้แทนจำเลย อันเนื่องมาจากการโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ต่อมาโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โจทก์จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรใบรับสำหรับจำนวนเงินที่ผู้รับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะโจทก์ขอให้คืนค่าอากรแสตมป์แล้วแต่จำเลยไม่ยอมคืน โดยอ้างว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเกินระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากร ขอให้จำเลยชำระเงินค่าอากรแสตมป์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอคืนค่าอากรภายในวันที่ 10 กันยายน 2536 แต่โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2538 ซึ่งการขอคืนค่าอากรแสตมป์ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เสียอากรแสตมป์ไปโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือเสียเกินไปกว่าอัตราที่กำหนดก็จะต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรหรือเสียค่าเพิ่มอากร ตามมาตรา 122 แห่ง ประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอคืนค่าอากรแสตมป์ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าอากรแสตมป์จำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิด นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มีนาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม2536 โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาซื้อขายให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 20,000,000 บาท ในวันดังกล่าว สำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาทุ่งสง ได้เรียกเก็บค่าอากรแสตมป์จากโจทก์ อันเนื่องมาจากการขายที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เป็น จำนวน 100,000 บาท โดยเรียกเก็บแทนจำเลย ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 18 วันที่ 15 เมษายน 2536 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะแก่จำเลยตามรายรับจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เป็นเงินจำนวน 638,915.78 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 และ 17 ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2538 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอให้จำเลยคืนค่าอากรแสตมป์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาทุ่งสง ได้เรียกเก็บจากโจทก์แทนจำเลยจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์เพราะโจทก์ได้รับการยกเว้นตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มาตรา 13 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 18 และ ล.1 แผ่นที่ 15 จำเลยปฏิเสธไม่คืนให้โดยอ้างว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเกิน 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 122 ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยว่า โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอคืนอากรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 122 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติประมวลรัษฎากร มาตรา 122 ได้บัญญัติว่า “ผู้ใดได้เสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไปไม่น้อยกว่า 2 บาท สำหรับตราสารลักษณะเดียวกันหรือเรื่องเดียวผู้นั้นชอบที่จะทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิบดีเห็นว่าเกินไปจริงก็ให้คืนค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรที่เกินไปนั้นแก่ผู้เสียอากรได้ แต่คำร้องที่กล่าวนั้นจะต้องยื่นภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรหรือค่าเพิ่มอากร…” การที่บทกฎหมายดังกล่าวใช้คำว่า “ผู้ใดได้เสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไป” นั้นจะเห็นได้ชัดว่า เจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียค่าอากรหรือเสียค่าเพิ่มอากรของผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียตามที่กฎหมายกำหนด “เกินไป” เท่านั้น มิได้มีเจตนาให้ตีความขยายรวมไปถึงผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือผู้ที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บอากรไปโดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าอากรด้วยไม่ เพราะหากกฎหมายมีเจตนาให้ขยายรวมไปถึงผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือผู้ที่ถูกเจ้าพนักงานเรียกเก็บอากรไปโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าอากรด้วยแล้วกฎหมายก็จะต้องบัญญัติข้อความดังกล่าวลงในตัวบทกฎหมายให้ชัดเจนไว้ด้วยดังเช่นที่ได้บัญญัติในเรื่องการขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งได้บัญญัติว่า”เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด…” ซึ่งจะเห็นได้ว่าได้ระบุในกรณีผู้ที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียไว้อย่างชัดเจน จึงเป็นข้อพิสูจน์สนับสนุนให้เห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากรคงให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่ต้องมีหน้าที่ต้องเสียอากรหรือเสียค่าเพิ่มอากรเกินไปตามกฎหมายเพียง 2 กรณีเท่านั้น คดีนี้ได้ความว่า ขณะที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์มีภาระภาษีธุรกิจเฉพาะทำให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรใบรับสำหรับจำนวนเงินที่ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามลักษณะแห่งตราสาร28 วรรคท้าย ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะครบถ้วนแล้วหรือไม่ จากเหตุดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าที่โจทก์ฟ้องขอคืนอากรจากจำเลยเป็นค่าอากรที่โจทก์ได้ชำระให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินที่ได้เรียกเก็บแทนจำเลยโดยโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียตามกฎหมาย ฉะนั้นการขอคืนค่าอากรจากจำเลยตามที่ฟ้องคดีนี้ในเรื่องระยะเวลาจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 122 แห่งบทบัญญัติประมวลรัษฎากรดังที่จำเลยอ้างและไม่อยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 27 ตรี ซึ่งเป็นเรื่องการขอคืนภาษีอากรซึ่งจะต้องยื่นขอคืนนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดด้วย โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนค่าอากรจากจำเลยได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน