แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ยังคงอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นพฤติการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) จึงยังคงมีอยู่ตลอดมาและโจทก์ย่อมยกเป็นเหตุหย่าได้ โดยไม่สำคัญว่าโจทก์จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนฟ้องเกิน 1 ปีหรือไม่ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์ 20,000 บาท และให้ชำระอีกเดือนละ 4,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าทดแทนเป็นเงินคนละ 150,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ 100,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์หย่าขาดจากกัน โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. บุตรผู้เยาว์ แต่เพียงผู้เดียว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน โดยให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชาย อ. บุตรผู้เยาว์ แต่เพียงผู้เดียวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 20,000 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 4,000 บาท นับตั้งแต่วันพิพากษา (วันที่ 18 พฤศจิกายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนในทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีจำเลยแต่ละคน คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2531 ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2532 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 113798 พร้อมบ้านเลขที่ 81/105 หมู่ที่ 5 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โจทก์ จำเลยที่ 1 นางโตวตี้ มารดาจำเลยที่ 1 เข้าพักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านดังกล่าว โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชาย อ. เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2533 ต่อมาโจทก์กับมารดาจำเลยที่ 1 ทะเลาะกัน จำเลยที่ 1 ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน โดยตกลงให้เด็กชาย อ. อยู่ในความปกครองของโจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 4,000 บาท แล้วโจทก์กับเด็กชาย อ. ก็ย้ายออกไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 60/28 หมู่ที่ 8 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยโจทก์ประกอบอาชีพรับจ้างซักรีดเสื้อผ้า จำเลยที่ 1 ไปเยี่ยมเด็กชาย อ. ทุกสัปดาห์และมอบเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาท ตลอดมา จนกระทั่งถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2539 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันใหม่ แต่โจทก์ไม่ได้กลับไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 81/105 ของจำเลย ซึ่งมีมารดาของจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ด้วย ประมาณเดือนธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 รู้จักจำเลยที่ 2 ต่อมาเดือนมีนาคม 2545 จำเลยที่ 1 นำจำเลยที่ 2 ซึ่งตั้งครรภ์กับจำเลยที่ 1 เข้าไปพักอาศัยในบ้านเลขที่ 81/105 กับจำเลยที่ 1 และมารดาจำเลยที่ 1 โจทก์พบจำเลยที่ 2 ที่บ้านดังกล่าวหลายครั้ง
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลอุทธรณ์ให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทดแทนให้โจทก์และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. นั้นชอบหรือไม่ เพียงไร
…พิเคราะห์แล้ว สำหรับปัญหาเรื่องเหตุหย่า ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ให้การอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ฉันภริยานั้น โจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์อีกครั้ง เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ปรับความเข้าใจกันได้ จำเลยที่ 1 จึงเจตนาจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยที่ 1 เบิกความโต้แย้งว่า ตนมิได้เจตนาจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ แต่ต้องจดทะเบียนสมรสกับโจทก์อีกครั้งหนึ่ง เพราะเห็นว่าเด็กชาย อ. บุตรจำเลยที่ 1 กับโจทก์จะเข้าโรงเรียนเพื่อประโยชน์ของเด็กชาย อ. และการคำนวณลดหย่อนภาษีเงินได้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล เพราะขณะที่เด็กชาย อ. เกิดนั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังจดทะเบียนสมรสกันอยู่ เด็กชาย อ. จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แม้ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันด้วยความสมัครใจ ขณะนั้นโจทก์ไม่ใช่ภริยาของจำเลยที่ 1 ก็เป็นเหตุเฉพาะตัวของโจทก์ ไม่ทำให้เด็กชาย อ. บุตรชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 เด็กชาย อ. จึงยังคงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ตลอดไป จำเลยที่ 1 ย่อมขอลดหย่อนค่าภาษี เนื่องจากต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กชาย อ. ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า การที่จำเลยที่ 1 และโจทก์จดทะเบียนสมรสกันครั้งหลังนี้ จำเลยที่ 1 และโจทก์สมัครใจที่จะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ความจริงจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะเป็นสามีภริยากับโจทก์อีกครั้งนั้นย่อมรับฟังไม่ได้ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ไปมีเพศสัมพันธ์ด้วย ในขณะที่โจทก์ยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 กับนำจำเลยที่ 2 เข้ามาอยู่ในบ้านเลขที่ 81/105 กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นเป็นภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) แล้ว ส่วนโจทก์ไม่เคยแสดงตนว่าเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ไม่เคยทะเลาะหรือไล่จำเลยที่ 2 ออกจากบ้านหรือเพิ่งแสดงตนว่าเป็นภริยาจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน เพราะจำเลยที่ 2 กับพี่สาวโจทก์ทะเลาะวิวาททำร้ายกันนั้น ก็มิใช่กรณีที่โจทก์ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากัน เพราะเมื่อจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว โจทก์ก็ไม่ทราบเรื่อง ขณะที่โจทก์พบจำเลยที่ 2 อยู่ในห้องนอนจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ก็ตั้งครรภ์แล้ว ดังนั้น โจทก์จึงมีเหตุฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีเหตุฟ้องแย้งขอหย่าโจทก์โดยอ้างเหตุว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ยังคงอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 เป็นภริยาอันเป็นพฤติการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) จึงยังคงมีอยู่ตลอดมา โดยไม่สำคัญว่าโจทก์จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนฟ้องเกิน 1 ปีหรือไม่ และโจทก์ย่อมยกเป็นเหตุหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์มีเหตุหย่าและให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันนั้นชอบแล้ว และจำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงสถานภาพของจำเลยที่ 1 ซึ่งเคยไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เคยทำงานที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับเงินเดือน เดือนละ 23,000 บาท เริ่มทำงานที่บริษัทอิริกสัน จำกัด มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท จนกระทั่งได้รับการขึ้นเงินเดือนเป็นเดือนละ 90,000 บาท และสามารถใช้เงินโจทก์และเด็กชาย อ. ใช้เดือนละ 6,000 บาท ถึง 7,000 บาท บางครั้งเป็น 10,000 บาท มีที่ดิน 2 แปลง แปลงหนึ่งมีบ้านที่ตนใช้พักอาศัยอยู่ด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะทางการเงินดี แม้ขณะที่มาเบิกความ จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่มีงานทำแต่จำเลยที่ 1 ก็เคยพบเหตุการณ์นี้เมื่อกลับจากประเทศซาอุดีอาระเบียก็ว่างงานอยู่นานถึง 7 เดือน ก็ไม่ขัดขวางการดำรงชีพของจำเลยที่ 1 ประกอบกับโจทก์มีรายได้จากการรับจ้างซักรีดเสื้อผ้า และยังต้องเสียค่าเช่าบ้านด้วย จึงเห็นว่าค่าทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ก็ฟังไม่ขึ้น คดีมีประเด็นข้อสุดท้ายเรื่องการใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. นั้น เห็นว่า เด็กชาย อ. อยู่ในความดูแลของโจทก์ตลอดมาตั้งแต่โจทก์ยังอยู่ร่วมบ้านกับจำเลยที่ 1 หรือแยกออกมาอยู่ต่างหากจากจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าการปกครองดูแลเด็กชาย อ. ของโจทก์มีผลเสียหายอย่างไร แต่กลับปรากฏผลดีเพราะโจทก์เป็นหญิงมีความละเอียดอ่อนในการดูแลบุตร ทั้งโจทก์ประกอบอาชีพอยู่ภายในบ้าน ย่อมมีเวลาในการเลี้ยงดูบุตร และโจทก์ก็ยังไม่มีสามีใหม่ที่จะมาแบ่งปันเวลาและความรักที่มีต่อเด็กชาย อ. ซึ่งต่างกับจำเลยที่ 1 ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทั้งมีครอบครัวใหม่กับจำเลยที่ 2 และบุตรกับจำเลยที่ 2 การให้เด็กชาย อ. บุตรอยู่ในความดูแลของโจทก์ย่อมเหมาะสมกว่า ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ปัจจุบันเด็กชาย อ. กลับมาอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 81/105 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2548 เพราะโจทก์ไม่มีเวลามาดูแลให้ความอบอุ่น โจทก์ก็แก้ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะให้บุตรไปศึกษาต่อต่างประเทศจึงขอให้โจทก์ไปทำหนังสือยินยอมที่สถานกงสุล โจทก์จึงต้องยินยอมให้บุตรไปอยู่กับจำเลยที่ 1 เพราะเห็นแก่อนาคตของบุตรแต่บุตรก็ยังไม่ได้ไปต่างประเทศ ต้องอาศัยอยู่กับย่าซึ่งอายุมากแล้วที่บ้านเลขที่ 81/105 ตามลำพังสองคน เพราะจำเลยที่ 1 ได้แยกไปอยู่กับครอบครัวใหม่อีกที่หนึ่ง ทำให้ในตอนกลางวันบุตรเล่นแต่เกมคอมพิวเตอร์ และออกไปเที่ยวเตร่กลางคืนเป็นบางครั้ง เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ดูแลใกล้ชิด ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จึงยังไม่แน่นอนดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา และนำมารับฟังวินิจฉัยประกอบฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออ้างตามฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองนั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลฎีกา จึงไม่จำต้องวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ