แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยสามารถนำสืบโต้แย้งจำนวนเงินที่กู้ไปจากโจทก์ได้ว่าไม่ได้รับเงินไปครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคท้าย
จำเลยนำสืบว่าในปี 2534 ถึง 2537 โจทก์นำบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยไปเบิกเงินเดือนของจำเลยเป็นเงินประมาณ 300,000 บาทเป็นการนำสืบการใช้เงินโดยวิธีอื่น ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้
การที่จำเลยอ้างส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งบันทึกการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลยพร้อมเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนาเป็นพยานหลักฐานนั้นนับเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยจะนำสืบในประเด็นเรื่องการใช้เงินแม้โจทก์จะไม่ทราบว่ามีการบันทึกเสียงไว้ก็ตาม แต่เมื่อเสียงที่ปรากฏเป็นเสียงของโจทก์จริง และการบันทึกเสียงดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงไว้เอง ซึ่งโดยปกติจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเทปบันทึกเสียงและเอกสารที่ถอดข้อความนั้นเป็นการบันทึกถ้อยคำซึ่งเกิดจากการกระทำโดยมิชอบอันจะต้องมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 243 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินกู้ 400,000 บาทรวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในเงินต้น 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพียง 160,000 บาทโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน เหตุที่ลงจำนวนเงินไว้ 400,000 บาท เพราะมิฉะนั้นโจทก์จะไม่ให้กู้ยืม ในการกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 ได้มอบบัตรถอนเงินอัตโนมัติให้โจทก์นำไปถอนเงินเดือนของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2534 ถึงเดือนธันวาคม 2537 โจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่คืนหนังสือสัญญากู้ยืมให้ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 280,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน160,000 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2540 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินโจทก์ไป 400,000 บาทหรือ 160,000 บาท ได้ความจากตัวโจทก์ว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้มากู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1รับเงินไปในวันทำสัญญา 320,000 บาท และรวมหนี้เก่าอีก 80,000 บาทเป็น 400,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่าได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 160,000 บาท เท่านั้น เหตุที่สัญญากู้ยืมลงจำนวนเงิน 400,000 บาท เพราะโจทก์ให้ลงเงินจำนวนดังกล่าว หากไม่ลงจะไม่ยอมให้กู้ยืมเงิน เห็นว่า แม้โจทก์จะมีสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงว่าจำเลยที่ 1กู้ยืมเงินโจทก์ไป 400,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังนำสืบโต้แย้งจำนวนเงินที่กู้ไปจากโจทก์ว่า ไม่ได้รับเงินไปครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย จำเลยทั้งสองย่อมนำสืบได้หาใช่เป็นกรณีต้องห้ามมิให้นำสืบดังที่โจทก์ฎีกา และในการกู้ยืมเงินโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด คงมีตัวโจทก์เบิกความเพียงคนเดียวว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไป 400,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1นอกจากจะมีจำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ไป 160,000บาท แล้วจำเลยที่ 1 ยังมีหนังสือที่จำเลยที่ 1 มีไปถึงโจทก์ขอสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาประดิพัทธ์คืน จำเลยที่ 1 ก็ระบุว่าได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเป็นจำนวน 160,000 บาท แต่ได้ทำสัญญากู้ยืมให้โจทก์ไว้เป็นจำนวน 400,000 บาท โดยโจทก์ยึดสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวและบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1 ไว้ นอกจากนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ไปแจ้งความเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อว่า สมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาประดิพัทธ์ และบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1อยู่ที่โจทก์ จำเลยที่ 1 ติดต่อทวงถามคืนไม่ได้ จำเลยที่ 1 ก็ระบุในรายงานประจำวันของเจ้าพนักงานตำรวจว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไป 160,000 บาทนายอำนาจ ไต่เพชร พยานจำเลยอีกคนหนึ่งก็เบิกความว่าพยานเคยไปกู้ยืมเงินจากโจทก์ประมาณ 10,000 บาท แต่โจทก์ให้พยานเขียนสัญญากู้ยืมจำนวน30,000 บาท พร้อมกับยึดบัตรถอนเงินอัตโนมัตของพยานไว้ จากพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยนำสืบมามีน้ำหนักน่าเชื่อได้ว่า ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 1ได้รับเงินจากโจทก์เป็นจำนวน 160,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 มอบสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาประดิพัทธ์ และบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไว้ดังที่จำเลยนำสืบต่อสู้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า จำเลยทั้งสองได้ชำระเงินจำนวน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า ในการกู้ยืมเงินโจทก์ยึดสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาประดิพัทธ์ และบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1 ไว้ แต่โจทก์ได้รับเงินไปเท่าใดนั้น จำเลยทั้งสองนำสืบว่าในปี 2534 ถึง 2537 โจทก์นำบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1ไปเบิกเงินเดือนของจำเลยที่ 1 จนหมดเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท การนำสืบการใช้เงินโดยวิธีดังกล่าวจำเลยทั้งสองชอบที่จะทำได้เพราะเป็นการนำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ โดยจำเลยทั้งสองอ้างส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งบันทึกการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 พร้อมเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนาดังกล่าวและรายการบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1เป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ไปครบถ้วนแล้ว แม้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์จะเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าเทปบันทึกเสียงนั้น บันทึกเสียงมาจากที่ใดและเสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียงไม่ใช่เสียงของโจทก์ก็ตาม แต่ในชั้นอุทธรณ์ฎีกาโจทก์ยอมรับว่าเสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียงเป็นเสียงของโจทก์ คงโต้เถียงเพียงว่าจำเลยที่ 1 แอบบันทึกเสียงไว้โดยโจทก์ไม่รู้ตัวและไม่ยินยอม เทปบันทึกเสียงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเท่านั้น ดังนี้ ย่อมรับฟังได้ว่าเสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียง เป็นเสียงของโจทก์จริงเทปบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนานั้น นับเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองจะนำสืบในประเด็นเรื่องการใช้เงินนี้แม้ในขณะนั้นโจทก์จะไม่ทราบว่ามีการบันทึกเสียงไว้ก็ตาม แต่เมื่อเสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียงเป็นเสียงของโจทก์จริง และการบันทึกเสียงดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงไว้เอง ซึ่งโดยปกติจำเลยที่ 1ย่อมมีสิทธิที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว ดังนี้จึงไม่ถือว่าเทปบันทึกเสียงและเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนานั้นเป็นการบันทึกถ้อยคำซึ่งเกิดจากการกระทำโดยมิชอบ อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540มาตรา 243 วรรคสอง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่ตามเทปบันทึกเสียงและเอกสารดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ไปแล้วเท่าไร คงปรากฏจากรายการบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ว่ามีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวโดยใช้บัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติระหว่างปี 2534 ถึง 2537 หลายรายการเมื่อฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ 1อยู่ในช่วงเวลานั้น พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวมาโดยตลอด เมื่อนำจำนวนเงินที่มีการเบิกถอนแต่ละรายการคำนวณหักจากหนี้เงินกู้จำนวน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีโดยคำนวณหักจากดอกเบี้ยก่อนหากมีเหลือจึงหักจากเงินต้นตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 แล้วเห็นได้ว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ไปแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง