แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติตามมาตรา 42 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯมิได้บังคับเป็นการเด็ดขาดว่า ศาลจะต้องให้เจ้าของอาคารร่วมรับผิดในการรื้อถอนเสมอไปแต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจตามควรแก่กรณีว่าสมควรจะให้ผู้ใดเป็นผู้รับผิดในการรื้อถอน เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารมิได้ยินยอมอนุญาตให้มีการปลูกสร้างอาคารโรงจอดรถที่ต้องถูกรื้อถอน ทั้งเป็นผู้มาแจ้งให้เจ้าพนักงานทราบถึงการปลูกสร้างที่ผิดแบบ จึงไม่สมควรให้จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในการรื้อถอนด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการปลูกสร้างอาคารดังกล่าวต้องรับผิดในการรื้อถอน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 13713และเป็นเจ้าของอาคารแถว 4 หลัง รวมทั้งโรงจอดรถ 2 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการ และจำเลยที่ 3เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างอาคารโรงจอดรถ 2 หลังนั้น ส่วนจำเลยที่ 4ที่ 5 เป็นผู้ครอบครองอาคารแถวเลขที่ 1379/37, 1379/38 กับอาคารโรงจอดรถ 1 หลัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันปลูกสร้างอาคารโรงจอดรถ 2 หลังดังกล่าวเพื่อใช้เป็นที่จอดรถยนต์ โดยปลูกขึ้นระหว่างอาคารเลขที่ 1379/37 กับ 1379/38 หลังหนึ่ง และระหว่างอาคารเลขที่ 1379/42 กับ 1379/43 อีกหลังหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 เช่าตึกแถวเลขที่ 1379/37และ 1379/38 ตามลำดับ และให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ครอบครองอาคารโรงจอดรถดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบการก่อสร้างดังกล่าวจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 3 ระงับการก่อสร้างอาคารโรงจอดรถและจำเลยที่ 3 ได้ทราบคำสั่งแล้วแต่จำเลยที่ 3 ไม่ระงับการก่อสร้าง โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยทั้งห้าให้รื้อถอนอาคารภายในกำหนด 30 วันจำเลยทั้งห้าได้รับหนังสือแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์และไม่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้ารื้อถอนอาคารโรงจอดรถยนต์ ถ้าไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองโดยให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เป็นเจ้าของที่ดินและอาคารตึกแถวตามฟ้องแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของอาคารโรงจอดรถ จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารโรงจอดรถตามฟ้องเกินจากแบบแปลนแผนผังที่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยที่ 1ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างอาคารโรงจอดรถตามฟ้องและไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือของโจทก์ที่แจ้งให้รื้อถอนอาคารตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนอาคารโรงจอดรถยนต์ตามฟ้องซึ่งก่อสร้างระหว่างอาคารเลขที่ 1379/37 และ 1379/38ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รื้อถอนอาคารโรงจอดรถยนต์ซึ่งก่อสร้างระหว่างอาคารเลขที่ 1379/42 และ 1379/43 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร ถ้าจำเลยทั้งห้าไม่รื้อถอนอาคารดังกล่าวให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยร่วมกันออกค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยมีหน้าที่ต้องรื้อถอนตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำการปลูกสร้างอาคารโรงจอดรถตามฟ้อง จำเลยที่ 1จึงไม่ควรจะต้องรับผิดชอบในการรื้อถอนโรงจอดรถนั้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อาคารโรงจอดรถดังกล่าวเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารโรงจอดรถ จึงต้องรับผิดในการรื้อถอนอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคสาม บัญญัติว่า”…ฯลฯ… ถ้าข้อเท็จจริง ในทางพิจารณา ฟังได้ว่ามีการกระทำตามมาตรา 40 นั้นจริง ให้ศาลมีคำบังคับให้มีการรื้อถอนในคำบังคับนั้นศาลจะกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารผู้ดำเนินการผู้ควบคุมงานหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้มีหน้าที่ในการรื้อถอนก็ได้ตามควรแก่กรณี…ฯลฯ…” จากบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บังคับเป็นการเด็ดขาดว่าศาลจะต้องให้เจ้าของอาคารร่วมรับผิดในการรื้อถอนเสมอไปไม่ แต่กฎหมายให้ศาลใช้ดุลพินิจตามควรแก่กรณีว่าสมควรจะให้ผู้ใดเป็นผู้รับผิดในการรื้อถอน เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมอนุญาตให้มีการปลูกสร้างอาคารโรงจอดรถ ทั้งจำเลยที่ 1 เองเป็นผู้มาแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ทราบถึงการปลูกสร้างที่ผิดแบบ จนมีการดำเนินคดีนี้ขึ้นเช่นนี้ตามพฤติการณ์จึงไม่สมควรให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในการรื้อถอนด้วย
คดีมีปัญหาต้อง วินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในการรื้อถอนอาคารโรงจอดรถที่สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลูกสร้างอาคารโรงจอดรถ แต่จำเลยที่ 3เป็นผู้ปลูกสร้างโดยขออนุญาตจากจำเลยที่ 1 แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่า จำเลยที่ 2 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 จะทำการก่อสร้างตึกแถวขึ้นในที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อมีผู้มาเช่าจำเลยที่ 2 จะเรียกค่าก่อสร้างจากผู้เช่าแล้วจัดให้ผู้เช่าได้ทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1การปลูกสร้างอาคารโรงจอดรถพิพาทขึ้นในช่องว่างระหว่างตึกแถวนั้นก็เพื่อให้ผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นที่จอดรถ รูปคดีจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการปลูกสร้างอาคารโรงจอดรถพิพาทขึ้นและเป็นผู้เรียกค่าปลูกสร้างจากผู้เช่าที่ใช้ประโยชน์จากอาคารโรงจอดรถนั้น ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องนั้นไม่น่าเชื่อเพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการปลูกสร้างตึกแถวอยู่ หากจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอมแล้ว จำเลยที่ 2ก็น่าจะห้ามปรามมิให้จำเลยที่ 3 ทำการปลูกสร้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ห้ามปรามแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ดำเนินการปลูกสร้างอาคารโรงจอดรถพิพาท จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดในการรื้อถอนอาคารโรงจอดรถพิพาท ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.