คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีเรื่องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ของบริษัทจำกัดอันผิดระเบียบ และขอให้ศาลสั่งถอนผู้ชำระบัญชีออกจากตำแหน่งนั้น กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งและผู้ถือหุ้นนับได้ถึงหนึ่งในยี่สิบแห่งหุ้นของบริษัทย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลได้ตามนัยแห่ง ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ตอนท้ายโดยไม่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท
คดีร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ชำระบัญชีออกจากตำแหน่ง เมื่อผู้ร้องไม่นำสืบให้เห็นว่าผู้ชำระบัญชีเป็นบุคคลที่ไม่สมควรหรือบกพร่องต่อหน้าที่ก็ไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นทางประกอบการพิจารณาของศาลที่จะชี้ขาดถึงความผิดพลาดบกพร่องของผู้ชำระบัญชีเพื่อสั่งถอดถอนออกจากตำแหน่งได้
การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ของบริษัทอันผิดระเบียบจะต้องร้องขอต่อศาลภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมติตามป.พ.พ. มาตรา 1195 ซึ่งเป็นบทบังคับพิเศษ
ปัญหาเรื่องกำหนดเวลาร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ ฯ อันผิดระเบียบเป็นปัญหา ข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 142(5),246,247

ย่อยาว

คดีนี้ผู้ร้องทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทปัทมวัฒน์ จำกัด ยืนคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้คัดค้านออกจาตำแหน่งผู้ชำระบัญชีของบริษัทปัทมวัฒน์ฯ ตั้งกองหมายเป็นผู้ชำระบัญชีแทน โดยอ้างว่ามติของที่ประชุมใหญ่ของบริษัทครั้งที่ ๒ ซึ่งลงมติให้มีผู้ชำระบัญชีคนเดียวและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีตามญัตติที่นายเฉลิม ปัทมพงศ์ (ประธานกรรมการบริษัท) เสนอนั้น ไม่มีผลบังคับได้ตาม ก.ม. ผู้ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรมฯ มิตเรื่องตั้งผู้ชำระบัญชีเสร็จสิ้นไปในคราวประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑ ให้เลิกบริษัทและตั้งผู้ชำระบัญชีสองคนคือผู้คัดค้านกับนายณัติ เศรษฐบุตร ตามข้อบังคับของบริษัท ข้อ ๑ และ ม.๑๑๖๘(๔) แห่ง ป.พ.พ. แล้ว การประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ เพียงเพื่อลงมติพิเศษเรื่องเลิกบริษัทเท่านั้นไม่มีอำนาจที่จะประชุมญัตติในเรื่องผู้ชำระบัญชีใหม่อีก
ผู้คัดค้านคัดค้านว่า กรณีเป็นคดีมีข้อพิพาทซึ่งจะต้องฟ้องนายเฉลิมและผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ เป็นจำเลย และที่อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการชำระบัญชีก็ต้องฟ้องผู้คัดค้าน จะดำเนินอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทไม่ได้ มติของที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ถูกต้องชอบด้วย ก.ม. และตามคำร้องก็มิได้แสดงเหตุว่าผู้ชำระบัญชีกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยการชำระบัญชีประการใด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะร้องขอได้ตามป.พ.พ. มาตรา ๑๒๕๗ ไม่จำเป็นต้องฟ้องและมติในที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ย่อมเพิกถอนมติเดิมได้เสมอ ไม่มีบท ก.ม.ห้าม ผู้ร้องไม่ได้นำสืบให้ เห็นว่านายเฉลิมใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอย่างใด และนายฟุ้งไม่สมควรจะเป็นผู้ชำระบัญชีประการใด สมควรเพิกถอนนายฟุ้งออกจากผู้ชำระบัญชี
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับศาลชั้นต้นว่าการแต่งตั้ง นายฟุ้งเป็นผู้ชำระบัญชีคนเดียวเป็นโมฆะเพราะเหตุสำคัญว่าที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ดำเนินการประชุมนอกระเบียบวาระซึ่งผู้ร้องได้คัดค้านไม่เห็นด้วยไว้แล้ว ที่ประชุมยังดำเนินการประชุมเพื่อแต่งตั้งนายฟุ้งเป็นผู้ชำระบัญชีคนเดียวเป็นการไม่ถูกต้องตามป.พ.พ. ม. ๑๑๗๕ จึงตกเป็นโมฆะ และผู้ชำระบัญชีก็คงอยู่ตามเดิมแล้ว ไม่มีเหตุจะต้องแต่งตั้งใหม่ให้ยกคำร้อง ที่ขอให้ตั้งกองหมายเป็นผู้ชำระบัญชีเสีย
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาที่ผู้คัดค้านโต้เถียงว่าคดีเป็นคดีมีข้อพิพาทนั้น กรณีเรื่องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดย่อมมีสิทธิที่จะร้องต่อศาลได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๙๕ และกรณีเรื่องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ชำระบัญชีและตั้งผู้อื่นแทนที่ผู้ถือหุ้นนับได้ถึงหนึ่งในยี่สิบแห่งทุนของบริษัทก็ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๕๗ ซึ่งเป็นสิทธิตามบทบัญญัติแห่ง ก.ม.แพ่งสองมาตราดังกล่าวนั้นได้ กำหนดไว้ตรงตามข้อความตอนท้ายของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๕๕ อันเกี่ยวกับเรื่องบุคคลที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลอยู่แล้ว ข้อโต้แย้งของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
แต่ผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างว่านายฟุ้งเป็นบุคคลที่ไม่สมควรหรือบกพร่องต่อหน้าที่ผู้ชำระบัญชีประการใด คดีไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลจะชี้ขาดความผิดพลาดบกพร่องของนายฟุ้ง เพื่อสั่งถอดถอนจากตำแหน่งผู้ชำระบัญชีให้ได้ คำขอของผู้ร้องจึงเป็นอันตกไป
ตามคำร้องของผู้ร้องมุ่งประสงค์ว่า การลงมิตของที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ เรื่องตั้งนายฟุ้งเป็นผู้ชำระบัญชีแต่เพียงคนเดียวเป็นการลงมติที่ผิดระเบียบ ไม่มีผลตาม ก.ม. กรณีเป็นเรื่องที่จะต้องบังคับตามความใน ม.๑๑๙๕ ซึ่งต้องพิจารณาว่าผู้ร้องได้การปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามบท ม.๑๑๙๕ แล้วหรือประการใด
ม.๑๑๙๕ บัญญัติว่า “การประชุมใหญ่นัน ถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันหรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่ง นับแต่วันลงมตินั้น”
ตัวบทแสดงความมุ่งหมายให้เห็นได้โดยถนัดว่า มติของที่ประชุมใหญ่นั้นแม้จะเป็นไปโดยผิดระเบียบหรือไม่ก็ตาม ผู้ดำเนินงานก็ต้องปฏิบัติการไปตามมติเช่นกรณีเรื่องนี้ ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติการตาม ม.๑๒๕๓-๑๒๕๔ ภายในกำหนดเวลา ๑๔ วัน เป็นอาทิ ซึ่งผู้ร้องก็ยอมรับว่าผู้ชำระบัญชีได้ดำเนินการไปแล้วตามนั้น ก.ม.ไม่ประสงค์ที่จะให้การปฏิบัติงานตามมติของที่ประชุมใหญ่จำต้องหยุดชะงักชักช้าโดยใช่เหตุ จึงได้ตราบทบังคับไว้ในข้อความต้องท้ายว่า เมื่อผู้ใดจะต้องขอต่อศาล เพื่อให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบ จะต้องร้องขอเสียภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น มิฉะนั้นแล้วก็ถือว่าเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายแล้ว จะมาร้องขอให้เพิกถอนในภายหลังเมื่อเกินกำหนดเวลาดั่งกล่าวนั้นอีกต่อไปไม่ได้ ซึ่งเป็นบทบังคับพิเศษตาม ก.ม. เฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติการตาม ก.ม. มาตรานี้ และมิได้เกี่ยวข้องถึงเรื่องอายุความตามสิทธิเรียกร้องที่บัญญัติไว้ใน ม. ๑๖๓
ปรากฎตามคำร้องว่ามติของที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าเป็นมติอันผิดระเบียบนั้น ได้ลงมติตั้งแต่วันที่ ๒๖ ต.ค.๒๔๙๘ ผู้ร้องเพิ่งนำคดีมาร้องศาลเมื่อวันที่ ๒๘ พ.ย.๒๔๙๘ เกินกว่ากำหนดเวลาตามที่ ม.๑๑๙๕ บังคับไว้ ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลได้เสียแล้ว อนึ่ง ข้อมีเป็นปัญหาข้อก.ม.เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๔๒(๕),๒๔๖,๒๔๗
พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share