แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ และเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งห้ามจำเลยใช้อาคารที่ดัดแปลงดังกล่าว เมื่อจำเลยฝ่าฝืน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว แม้ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดัดแปลงอาคารของจำเลยดังกล่าวได้ตามแบบแปลนที่ได้ยื่นไว้เดิมก็ตาม ก็หามีผลย้อนหลังไปอันจะเป็นเหตุให้ขณะที่จำเลยกระทำการดัดแปลงอาคารโดยยังมิได้รับอนุญาตก่อนนั้นซึ่งเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว กลับเป็นการได้รับอนุญาตโดยชอบแต่อย่างใด เพราะตราบใดที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังไม่มีการอนุญาตก็ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดอยู่ตลอดมาจนถึงวันที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งอนุญาต
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 40, 65, 67 ป.อ. มาตรา 91 และศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษ ฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้อาคารของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง รวมจำคุก 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยขอชำระค่าปรับเป็นเงิน 20,000 บาท
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า “จนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 นั้นมีความหมายอย่างไร ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยนำแบบแปลนชุดเดิมที่เคยยื่นต่อเทศบาลเมืองมุกดาหาร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2536 โดยมิได้แก้ไขส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเลย การที่เทศบาลเมืองมุกดาหาร มีคำสั่งอนุญาตตามแบบแปลนดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 การดัดแปลงอาคารของจำเลย ระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2535 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2536 จึงเป็นการดัดแปลงอาคารโดยถูกต้องตามแบบแปลนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาตมาแต่ต้นนั้น เห็นว่า การที่จำเลยดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งห้ามจำเลยใช้อาคารที่ดัดแปลงดังกล่าว เมื่อจำเลยฝ่าฝืนการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว แม้ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดัดแปลงอาคารของจำเลยดังกล่าวได้ตามแบบแปลนที่ได้ยื่นไว้เดิมก็ตาม ก็หามีผลย้อนหลังไปอันจะเป็นเหตุให้ขณะที่จำเลยกระทำการดัดแปลงอาคารโดยยังมิได้รับอนุญาตก่อนนั้น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้วกลับเป็นการได้รับอนุญาตโดยชอบแต่อย่างใด เพราะตราบใดที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังไม่มีการอนุญาตก็ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดอยู่ตลอดมาจนถึงวันที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ดังนั้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 จำเลยจึงต้องชำระค่าปรับรายวันอีกวันละ 1,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2536 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.