คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมป่าไม้ฟ้องจำเลย 2 คนว่า เป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่ยักยอมเอาเงินไป ครั้นเมื่อศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปตามลำพังแล้ว ในชั้นอุทธรณ์ฎีกาโจทก์กลับอ้างอีกว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ ปล่อยให้จำเลยที่ 2 ยักยอกเงินไป จะให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดด้วย ข้ออ้างดังนี้ ย่อมเป็นการนอกประเด็น
กรมป่าไม้เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งว่า จำเลย 2 คนเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ ร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่ ปลอมแปลงเอกสารราชการแล้วยักยอกเงิน ขอให้บังคับให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวนที่ยักยอกไป ปรากฏว่าเรื่องนี้อัยการได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาแล้ว คดียังไม่ถึงที่สุด ต่อมาคดีอาญานั้นถึงที่สุดแล้วโดยศาลพิพากาายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 เพราะฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ยักยอกเงิน ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ปลอมแลปงเอกสารและยักยอกเงินตามลำพัง แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานและจะลงโทษฐานก็ไม่ได้ เพราะไม่มีการร้องทุกข์ จึงมีความผิดฐานปลอมแลงเอกสารราชการเท่านั้น ดังนี้ ต้องถือว่าความเสียหายของโจทก์ที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยใช้เงินในคดีแพ่งนี้เป็นผลจากการที่จำเลยทำละเมิดโดยักยอกเงิน จะเอาเหตุที่ศาลลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารว่าเป็นมูลแห่งสิทธิเรียกร้องเพื่อมิให้ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหาได้ไม่
บทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51 วรรค 2 บัญญัติเพื่อให้มีผลบังคับสำหรับกรณีที่จะมีการฟ้องคดีแพ่งตามมาภายหลังที่ได้พิจารณาพิพากษาคดีอาญาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ดังที่บัญญัติไว้ในวรรค 3 และ 4 รวมทั้งกรณีที่มีการฟ้องคดีแพ่งเข้ามาในระหว่างพิจารณาคดีอาญาด้วย คดีนี้อัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาหาว่ายักยอกเงินและศาลพิพาษกยกฟ้องจนคดีเสร็จเด็ดขาดไป แล้วกรณีจึงต้องตามบทบัญญัติวรรค 4
อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 นั้นใช้บังคับเฉพาะในกรณีผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด แต่คดีนี้เป็นเรื่องเจ้าของทรัพย์สินฟ้องเรียกเอาทรัพย์ที่ผู้ทำละเมิดยึดถือครอบครองของเขาไว้ในฐานะละเมิด ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 1382 และ 1383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานประจำสำนักงานป่าไม้จังหวัดตราด จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติราชการในหน้าที่พนักงานบำรุงป่าประจำด่านป่าไม้จังหวัดตราด จำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่ปลอมแปลมเอกสารราชการกรอกจำนวนเงินในต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าซื้อไม้ป่าเลนน้อยกว่าปลายขั้วที่รับเงินจริง แล้วยักยอกเงินที่ผิดกันนี้เสียเป็นเงิน ๑๓๘,๑๓๘.๙๑ บาท โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๐๒ ได้ร้องเรียนให้พนักงาสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยและจำเลยต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินให้โจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน
จำเลยทั้สองให้การต่อสู้คดี
ศาลสั่งรอการพิจารณาไว้จนคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว โจทก์จำเลยแถลงรับกันดังนี้
(๑) คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญา คดีถึงที่สุดแล้ว คือ คดีแดงที่ ๖๖/๒๕๐๔
(๒) กรมป่าไม้โจทก์ได้ทราบพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในเดือนเมษายน ๒๕๐๒
(๓) โจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน ๑๓๘,๑๓๘.๙๑ บาท
แล้วศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ประมาทเลินเล่อ ปล่อยให้จำเลยที่ ๒ ยักยอกเงินไป จึงต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ นั้น เห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ประมาทเลินเล่อให้โจทก์เสียหาย ตามฟ้องมีแต่เพียงว่าจำเลยสมคบกันกรอกจำนวนเงินในต้นขั้วใบเสร็จน้อยกว่าปลายขั้ว จำเลยทั้งสองจงใจทุจริตต่อหน้าที่เอาเงินที่เกินเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ทำให้โจทก์เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้ออ้างของโจทก์เช่นนี้เป็นการนอกประเด็นจึงชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลพิพากษาคดีอาญาลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานปลอมหนังสือแล้ว ต้องใช้อายุความ ๑๐ ปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๘ นั้นเห็นว่าความเสียหายของโจทก์ที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยใช้เงินในคดีนี้ เป็นผลจากการที่จำเลยทำละเมิดโดยยักยอกเงินค่าซื้อไม้ป่าเลน มิใช่การปลอมเอกสารที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเอาเหตุที่ศาลลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารมาเป็นมูลแห่งสิทธิเรียกร้องเพื่อมิให้ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นไม่ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ฟัองคดีอาญาต่อศาลแล้ว อายุความคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ วรรค ๒ และต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ วรรค ๒ นั้น เห็นว่า บทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๕๑ วรรค ๒ บัญญัติเพื่อให้มีผลบังคับสำหรับกรณีทีจะมีการฟ้องร้องคดีแพ่งตามมาภายหลังที่ได้พิจารณาพิพากษาคดีอาญาเด็ดขาดไปแล้วดังที่บัญญัติไว้ในวรรค ๓ และ ๔ รวมทั้งกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีแพ่งเข้ามาในระหว่างพิจาณณาคดีอาญาอย่างคดีนี้ด้วย คดีนี้ อัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา หาว่ายักยอกเงินค่าซื้อไม้ป่าเลน และศาลพิพากษายกฟ้อง จนคดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว กรณีต้องตามบทบัญญัติวรรค ๔ คือ สิทธิของโจทก์ในอันทีจะต้องฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความตามหลักทั่วไปในเรื่องอายุความแห่งประมวลกฎฆมายแพ่งและพาณิชย์ และเห็นว่า อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ ซึ่งศาลล่างนำมาปรับแก่คดีนี้นั้น ใช้บังคับเฉพาะในกรณีผู้เสียหายฟ้องเรียกร้องค่าเสียอันเกิดแต่มูลละเมิด แต่คดีนี้โจทก์ขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้เงินซึ่งจำเลยยักยอกเอาของโจทก์ไป จึงไม่ใช่เรื่องเรียกร้องให้ใช้ค่าเสียหาย แต่เป็นเรื่องเจ้าของทรัพย์สินฟ้องเรียกเอาทรัพย์ที่ผู้ทำละเมิดยึดถือครอบครองของเขาไว้ในฐานละเมิด ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ ฉะนั้น จึงนำอายุความตามมาตรา ๔๔๘ มาใช้บังคับไม่ได้ ตามนัยฎีกาที่ ๖๙๕/๒๕๐๓ และ ๑๒๕๑/๒๕๐๔ โจทก์จึงยังมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ ประกอบด้วย ๑๓๘๒ และ ๑๓๘๓ เมื่อคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ยักยอกเงินโจทก์ไป ๑๓๘,๑๓๘.๙๑ บาท จำเลยที่ ๒ จึงต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนนี้แก่โจทก์
พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ ๒ คืนหรือใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์

Share