คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4659/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นภริยาและผู้จัดการมรดกของส. ระหว่างที่ส.มีชีวิตได้ซื้อที่ดินจากจำเลยและว่าจ้างจำเลยให้สร้างตึกแถว6ห้องเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนซึ่งส. ชำระค่าซื้อที่ดินและค่าจ้างให้จำเลยครบถ้วนแล้วระหว่างรอการขายและโอนให้ลูกค้าโดยตรงส. ถึงแก่ความตายจากนั้นจำเลยได้โอนขายที่ดินพร้อมตึกแถวให้บุคคลภายนอก2ห้องและกำลังจากขายให้โจทก์ผู้ร้องจึงอายัดที่ดินไว้และยื่นฟ้องจำเลยโดยขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาอายัดที่ดินและตึกแถวไว้ก่อนต่อมาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีและอยู่ระหว่างการบังคับคดีแต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นคดีนี้ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ทำให้จำเลยสามารถโอนที่ดินพร้อมตึกแถวให้แก่โจทก์ได้ดังนั้นผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจยื่นคำร้องเข้ามาในคดีเพื่อขอให้ได้รับความคุ้มครอบหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อมเมื่อถึงวันนัดคู่ความทุกฝ่ายมาศาลศาลได้สอบถามฟังคำแถลงทนายผู้ร้องทนายโจทก์และตัวจำเลยแล้วจึงมีคำสั่งถือได้ว่าศาลได้ให้โอกาสโจทก์จำเลยโต้แย้งคัดค้านคำร้องของผู้ร้องในระหว่างที่ศาลออกนั่งพิจารณาคดีแล้วกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา21(2)

ย่อยาว

คดีก่อนศาลชั้นต้นได้อายัดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินไว้ตามหมายห้ามชั่วคราว ต่อมาศาลชั้นต้นคดีนี้ได้สั่งเพิกถอนคำสั่งอายัดดังกล่าวโดยผิดหลงเพราะคำสั่งอายัดตามหมายห้ามชั่วคราวนั้นเป็นคำสั่งในคดีอื่น แม้จะสั่งโดยศาลชั้นต้นศาลเดียวกันก็มิอาจก้าวล่วงไปสั่งในคดีอื่นได้ เพราะทำให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อน การที่ศาลชั้นต้นคดีนี้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัดและมีคำสั่งใหม่เพื่อแก้ไขให้ที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท จากโจทก์ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ หรือบุคคลใดที่โจทก์ประสงค์ หากจำเลยไม่อาจดำเนินการตามคำขอดังกล่าวได้ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 19,630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคดีอยู่ระหว่างพิจารณาก่อนจำเลยยื่นคำให้การ คู่ความมาศาลร่วมกันแถลงว่า ตกลงกันได้พร้อมเสนอสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล ศาลชั้นต้นพิจารณาตามยอม ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือบุคคลใดที่โจทก์ประสงค์ให้เป็นผู้รับจดทะเบียนภายใน 7 วัน และให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เหลืออีก 2,000,000 บาท แก่จำเลยในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น หากจำเลยผิดนัด ให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่ดินดังกล่าวถูกบุคคลผู้มีชื่ออายัดไว้ จึงจดทะเบียนโอนตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาตามยอมศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้ดำเนินการเพิกถอนอาญัติที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แล้วให้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือบุคคลใดที่โจทก์ประสงค์
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1264/2535 หมายเลขแดงที่ 1017/2537 ของศาลชั้นต้นและได้ขอให้ศาลชั้นต้นอายัดที่ดินไว้ชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดี แต่ผู้ร้องไม่สามารถบังคับคดีได้ เนื่องจากศาลชั้นต้นในคดีนี้มีคำสั่งถอนอายัดที่ดินที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1017/2537ดังกล่าว จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้เพิกถอนการอายัดที่ดิน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ตรวจสำนวนทั้งสองคดีแล้ว เห็นว่าคดีที่ผู้ร้องอ้างนั้นยังไม่ถึงที่สุด โดยอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว และตามคดีที่ผู้ร้องอ้างนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ถ้าสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้ ก็ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินแทน กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง
ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2538 ว่าที่ได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องไปนั้นได้สั่งไปโดยผิดหลงจึงให้เพิกถอนคำสั่งเดิม แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นให้รับคำร้องนัดพร้อม หมายแจ้งวันนัดให้โจทก์ จำเลยและผู้ร้องทราบ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดและให้อายัดที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตามลำดับไว้ก่อน โดยห้ามจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นหมายแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินทราบ
ครั้งถึงวันนัดพร้อม ศาลชั้นต้นสอบถามทนายโจทก์ ทนายผู้ร้องและตัวจำเลยแล้วมีคำสั่งว่า พิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามที่ได้จากการสอบถามแล้ว เห็นว่า ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดตามหนังสือที่ ยธ 0200.401/733 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2537 ไปโดยหลงผิดจึงให้เพิกถอนคำสั่ง เรื่อง แจ้งถอนอายัดโฉนดที่ดินตามหนังสือดังกล่าวเสียโดยให้ใส่ชื่อจำเลย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวและยังคงถูกอายัดตามหมายห้ามชั่วคราวฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม 2535 ในคดีหมายเลขดำที่ 1264/2535
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์และจำเลยฎีกาข้อแรกว่าคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นเข้ามาในคดีไม่มีอำนาจตามกฎหมายเพราะศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว และเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 นั้นเห็นว่า ได้ความตามท้องสำนวนว่า ผู้ร้องเป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุรพล หาญสกุล ในระหว่างที่นายสุรพลมีชีวิต ได้ซื้อที่ดินจากจำเลยและว่าจ้างจำเลยให้สร้างตึกแถว 6 ห้อง ในที่ดินเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนโดยทั่วไป ต่อมาจำเลยได้แบ่งแยกโฉนดตามจำนวนห้องแถวที่ปลูกสร้างนายสุรพลได้ชำระค่าซื้อที่ดินและค่าจ้างให้จำเลยครบถ้วนแล้ว ระหว่างรอการขายและโอนให้ลูกค้าโดยตรง นายสุรพลถึงแก่ความตาย ระหว่างนั้นจำเลยได้โอนขายที่ดินพร้อมตึกแถวให้บุคคลภายนอก 2 ห้อง เหลือที่ดินพร้อมตึกแถวอีก 4 ห้อง ระหว่างที่จำเลยกำลังจะขายให้โจทก์ ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุรพลได้อายัดที่ดินไว้ และยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1264/2535 และขอให้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาอายัดที่ดินและตึกแถวไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งคดีดังกล่าวโจทก์เป็นผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยและศาลมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1017/2537 ให้ผู้ร้องชนะคดีและอยู่ระหว่างการบังคับคดี แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นคดีนี้ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ ทำให้จำเลยสามารถโอนที่ดินพร้อมตึกแถวให้แก่โจทก์ได้ ทำให้กองมรดกเสียหาย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลตรวจสอบสำนวนและมีคำสั่งให้ไต่สวนคู่ความทุกฝ่ายและมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้ถอนการอายัดที่ดินและตึกแถวดังกล่าวด้วย ดังนั้น ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจยื่นคำร้องเข้ามาในคดี เพื่อขอให้ได้รับความคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ซึ่งผู้ร้องก็ได้แสดงเหตุผลที่ขอเข้ามาในคดีให้ปรากฏชัดเจนแล้วว่า เรื่องราวทั้งหลายที่พิพาทกันอยู่ยังมีผู้ร้องเกี่ยวข้องที่จะต้องพิจารณาด้วย จึงควรจะได้พิจารณาไปเสียในคราวเดียวกัน ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 วรรคแรก ก็ได้บัญญัติชัดเจนให้รวมถึงการบังคับคดีอันเป็นเรื่องภายหลังจากมีคำพิพากษาอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงชอบที่จะยื่นคำร้องเช่นว่านั้นได้ โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่า มีเหตุสมควรอนุญาตหรือไม่ ที่โจทก์และจำเลยฎีกาต่อไปว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในภายหลังให้รับคำร้องของผู้ร้องและนัดพร้อม ไม่ได้เปิดโอกาสให้โจทก์และจำเลยคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน มีแต่เพียงคำสั่งให้นัดพร้อมและมีคำสั่งในวันนัดจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(2) นั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อม และเมื่อถึงวันนัดก็ได้มีคู่ความทุกฝ่ายมาศาลศาลได้สอบถามฟังคำแถลงทนายผู้ร้อง ทนายโจทก์และตัวจำเลยดังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 24 มีนาคม 2538 แล้วจึงมีคำสั่ง เช่นนี้ถือได้ว่าศาลได้ให้โอกาสโจทก์จำเลยโต้แย้งคัดค้านคำร้องของผู้ร้องแล้ว เพราะโจทก์จำเลยสามารถแถลงคัดค้านคำร้องของผู้ร้องในระหว่างที่ศาลออกนั่งพิจารณาคดีได้ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 21(2) แต่อย่างใด ที่โจทก์และจำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าที่ศาลล่างทั้งสองให้เพิกถอนคำสั่งเดิม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 นั้น เห็นว่า เดิมศาลชั้นต้นได้อายัดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินไว้ตามหมายห้ามชั่วคราวของคดีหมายเลขดำที่ 1264/2535 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2535 และต่อมาศาลชั้นต้นคดีนี้ได้สั่งเพิกถอนคำสั่งอายัดในคดีดังกล่าวโดยผิดหลงเพราะคำสั่งอายัดตามหมายห้ามชั่วคราวนั้นเป็นคำสั่งในคดีอื่นแม้จะสั่งโดยศาลชั้นต้นศาลเดียวกันก็มิอาจก้าวล่วงไปสั่งในคดีอื่นได้ เพราะทำให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ เมื่อความปรากฏต่อศาลชั้นต้นคดีนี้การที่ศาลชั้นต้นคดีนี้ได้ทำการตรวจสอบโดยฟังคำแถลงของทนายผู้ร้องทนายโจทก์และตัวจำเลย แล้วมีคำสั่งว่าศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดไปโดยผิดหลง ให้เพิกถอนคำสั่ง กับมีคำสั่งใหม่เพื่อแก้ไขให้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินกลับคืนสู่การถูกอายัดตามหมายห้ามชั่วคราวดังเดิม จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share