คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4658/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องและดำเนินคดีแก่บริษัทรุ่งชัยอะไหล่ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และนาง ร. กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทดังกล่าวเป็นจำเลยที่ 2 ดังนั้นที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในช่องคู่ความว่า บริษัทรุ่งชัย เทรดดิ้ง จำกัด จึงเป็นกรณีการพิมพ์ผิดพลาดซึ่งชอบที่จะแก้ไขได้ตาม ป.วิ.อ. มาตารา 190 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจที่จะแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ถูกต้องดังกล่าวได้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ดังโจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงเป็นตัวการร่วมกันตาม ป.อ. มาตรา 83 โดยไม่ต้องปรับบทตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 114 อีก แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นนิติบุคคลและจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และมีจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ลงนามผูกพันจำเลยที่ ๑ ร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งกล่องบรรจุชาฟท์ก้าน (ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์) มีเครื่องหมายการค้า ปลอม โดยรู้อยู่แล้วว่ากล่องดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตขึ้นโดยปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย และร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งชาฟท์ก้านที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้า
ปรากฏอยู่ โดยรู้อยู่แล้วว่าชาฟท์ก้านดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตขึ้นโดยเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๘, ๑๐๙, ๑๑๐, ๑๑๔, ๑๑๕ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทเออี ออโต พาร์ทส์ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๒ ปี ปรับ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลางทั้งหมด ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๑๔ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ แต่ตามมาตรา ๑๑๐ บัญญัติให้ต้องระวางโทษ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๘ หรือมาตรา ๑๐๙ จึงให้ลงโทษตามมาตรา ๑๐๘ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ และแก้ไขชื่อจำเลยที่ ๑ ในช่องชื่อคู่ความตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็น “บริษัทรุ่งชัยอะไหล่ เทรดดิ้ง จำกัด ที่ ๑” นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า เห็นว่า เหตุที่มีการไปตรวจค้นจับกุมและยึดสินค้าในบริษัทจำเลยที่ ๑ มาเป็นของกลาง เนื่องจากโจทก์ร่วมทราบจากลูกค้าว่า สินค้าอะไหล่ชาฟท์ก้านปลอมที่มีเครื่องหมายการค้าคล้ายของของโจทก์ร่วมมีวางจำหน่ายที่บริษัทจำเลยที่ ๑ จึงได้ส่งให้นาย อ. ไปซื้อมาเป็นตัวอย่าง ๑ กล่อง แล้วได้จัดส่งไปตรวจพิสูจน์ทั้งจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยและจากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ จนได้ความแน่ชัดตรงกันว่าสินค้าชาฟท์ก้านที่ซื้อมาดังกล่าวไม่ใช่ของแท้ จึงได้ไปแจ้งความให้เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นยึดสินค้าชาฟท์ก้านของกลางแล้วดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง แสดงว่า การเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเป็นการกระทำตามพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจริง หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสองไม่ และผลการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ก็สอดคล้องตรงกับการตรวจพิสูจน์ที่โจทก์ร่วมได้ดำเนินการก่อนที่จะไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ปรากฏอยู่ที่ของกลางนั้น นาง ม. เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งานทะเบียนการค้า ๗ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้มาเบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีใจความสรุปได้ว่า เครื่องหมายการค้าที่ปรากฏอยู่ที่กล่องและสินค้าของกลางกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมมีลักษณะคล้ายกันสอดคล้องกับที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้องว่า กล่องบรรจุสินค้าชาฟท์ก้านที่มี เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ร่วมปลอมปรากฏอยู่จำนวน ๓๐๐ กล่อง และมีชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ร่วมปรากฏอยู่จำนวน ๘๔๑ ชุด จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งคัดค้าน แต่อย่างใด พยานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีเหตุผลฟังได้ว่า กล่องและสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ข้อที่จำเลยทั้งสองต่อสู้อ้างมาในทำนองเดียวกันว่า สินค้าของกลางบริษัทจำเลยที่ ๑ สั่งนำเข้ามาจากบริษัทโกลบอล อินดัสตรีส์ จำกัด และบริษัท ปานาเม็กซ์ จำกัด ตัวแทนของโจทก์ร่วมในประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณปี ๒๕๓๒ ถึง ๒๕๓๓ นั้น ได้พิจารณาเอกสารของบริษัททั้งสองซึ่งได้แจ้งมายังผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือนาย ค. สามีจำเลยที่ ๒ ซึ่งพยายามขอให้บริษัทดังกล่าวยืนยันรับรองว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่บริษัทจำเลยที่ ๑ สั่งนำเข้ามาจากบริษัทนั้น ได้รับแจ้งตอบกลับยืนยันชัดเจนว่าสินค้านี้ไม่ได้จัดส่งมาให้บริษัทจำเลยที่ ๑ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในเรื่องนี้รวมทั้งที่อ้างว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าเก่าที่สั่งเข้ามาแล้วค้างสต็อกเพราะขายไม่ดีจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมดังวินิจฉัยมาได้ ที่ศาลล่างอุทธรณ์วินิจฉัยให้เหตุผลมาโดยละเอียดนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองใน ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการสุดท้ายว่า เมื่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ระบุชื่อจำเลยที่ ๑ ว่า บริษัทรุ่งชัย เทรดดิ้ง จำกัด แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขชื่อจำเลยที่ ๑ คดีนี้เป็น บริษัทรุ่งชัยอะไหล่ เทรดดิ้ง เพื่อให้มีผลเป็นการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสอง เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องและตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อเท็จจริงได้ความตรงกันว่า โจทก์ฟ้องและดำเนินคดีแก่บริษัทรุ่งชัยอะไหล่ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นจำเลยที่ ๑ และนาง ร. กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทดังกล่าวเป็นจำเลยที่ ๒ ดังนั้น ที่คำพิพากษาของ ศาลชั้นต้นระบุชื่อจำเลยที่ ๑ ในช่องคู่ความว่า บริษัทรุ่งชัย เทรดดิ้ง จำกัด จึงเป็นกรณีการพิมพ์ผิดพลาดซึ่งชอบที่จะ แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๐ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจที่จะแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ถูกต้องดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงเป็นตัวการร่วมกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ โดยไม่ต้องปรับบทตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๔ อีก ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘, ๑๐๙ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ .

Share