คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4633/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ ซึ่งรวมทั้งลูกหนี้ร่วมหรือผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าเอากับลูกหนี้ ต่างต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในเวลากำหนดและกฎเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 และมาตรา 101 แต่สิทธิที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้หรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ก็ต้องทำการตรวจคำขอรับชำระหนี้เสียก่อนตามมาตรา 105
เจ้าหนี้รายที่ 2 ยังไม่เคยชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 5เจ้าหนี้รายที่ 2 จะใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้ของลูกหนี้โดยตรงจึงไม่อาจกระทำได้ กรณีของเจ้าหนี้รายที่ 2 นี้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ขอใช้สิทธิที่ตนจะต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้รายที่ 5 ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ ตามมาตรา 101 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แม้ว่าเจ้าหนี้รายที่ 5 ได้ฟ้องเจ้าหนี้รายที่ 2 กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเป็นประกันต่อศาลแล้วก็ตาม ผลของคดีแพ่งก็จะไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของบรรดาเจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่ประการใด ในเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เพราะในที่สุดกฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้รายใดของลูกหนี้ที่ไม่มีกฎหมายยกเว้นไว้ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 5 ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามจำนวนเต็มที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันลูกหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ต่อไป ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 101 ตอนท้ายของวรรรคหนึ่ง และวรรคสอง

Share