คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4632/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีคำสั่งให้เรือขุดที่ผู้ตายเป็นพนักงานประจำเรือไปปฏิบัติงานขุดลอกบริเวณหลักผูกเรือกลางน้ำบางหัวเสือตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2556 เป็นต้นไป จึงถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งให้ผู้ตายไปปฏิบัติงานตามหน้าที่การงานปกติ การที่ผู้ตายไปปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานตามปกติ หลังเลิกงานแล้วเดินทางกลับบ้านพักระหว่างทางประสบอุบัติเหตุถูกรถบรรทุกลากพ่วงตู้สินค้าเฉี่ยวชนถึงแก่ความตาย ซึ่งช่วงเวลาเดินทางกลับบ้านเช่นนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของนายจ้าง จึงมิใช่กรณีที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์แก่นายจ้าง หรือการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างอันจะถือเป็นการประสบอันตรายตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ข้อ 4

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินทดแทน 2,230,272 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 นายธนัท เป็นสามีโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 วันที่ 8 กันยายน 2529 จำเลยจ้างนายธนัทเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายพนักงานปากเรือ 5 (นายท้ายอาวุโส) เรือขุด 3 แผนกเรือขุด กองการขุดลอกฝ่ายการร่องน้ำ วันที่ 14 มกราคม 2556 จำเลยมีคำสั่งให้นายธนัทไปปฏิบัติงานขุดลอกบริเวณหลักผูกเรือกลางน้ำบางหัวเสือ ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2556 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา นายธนัทขับขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านพักแล้วถูกรถบรรทุกลากพ่วงตู้สินค้าเฉี่ยวชนถึงแก่ความตาย แล้ววินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่ให้นายธนัทผู้ตายซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยไปทำงานในสถานที่ทำงานปกติของลูกจ้างมิใช่เป็นการสั่งให้ไปทำงานนอกสถานที่ทำงานตามปกติ การที่ผู้ตายไปปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ สำนักงานตามปกติแล้วเดินทางกลับบ้านอันเป็นการเดินทางจากที่ทำงานกลับบ้านพักตามปกติ การที่ผู้ตายประสบอุบัติเหตุถูกรถบรรทุกลากพ่วงตู้สินค้าเฉี่ยวชนถึงแก่ความตายเมื่อเวลา 17 นาฬิกา จึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคำสั่งของนายจ้างตามคำนิยาม “ประสบอันตราย” ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าคำสั่งกองการขุดลอกที่ 02/2556 มิใช่คำสั่งให้ผู้ตายไปทำงานในสถานที่ตามปกติของจำเลย แต่เป็นคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายหลังจากปฏิบัติงานในช่วงวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เสร็จแล้วประสบอุบัติเหตุระหว่างเดินทางกลับที่พักถือว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้แก่คดีนี้ จึงเป็นการปรับบทกฎหมายที่คลาดเคลื่อน ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยโดยปรับบทกฎหมายใหม่เสียให้ถูกต้อง เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาได้ความว่าจำเลยจ้างผู้ตายเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายพนักงานปากเรือ 5 (นายท้ายอาวุโส) เรือขุด 3 แผนกเรือขุด กองการขุดลอก ฝ่ายการร่องน้ำ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556 จำเลยมีคำสั่งให้เรือขุด 3 ที่ผู้ตายเป็นพนักงานประจำเรือ (นายท้ายอาวุโส) ไปปฏิบัติงานขุดลอกบริเวณหลักผูกเรือกลางน้ำบางหัวเสือตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2556 เป็นต้นไป จึงถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งให้ผู้ตายไปปฏิบัติงานตามหน้าที่การงานปกติ การที่ผู้ตายไปปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานตามปกติ หลังเลิกงานแล้วเดินทางกลับบ้านพักระหว่างทางประสบอุบัติเหตุถูกรถบรรทุกลากพ่วงตู้สินค้าเฉี่ยวชนถึงแก่ความตาย ซึ่งช่วงเวลาเดินทางกลับบ้านพักเช่นนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของนายจ้าง จึงมิใช่เป็นกรณีที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างอันจะถือเป็นการประสบอันตรายตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ข้อ 4 ที่โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share