แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์แบ่งที่ดินส่วนที่เป็นของ ม.ให้จำเลยทั้งสอง การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นการได้มาโดยผลของคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่ได้มาโดยทางมรดกในฐานะที่เป็นทายาทของ ม.ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลฎีกาการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงขั้นตอนของการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาเท่านั้น โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ขณะที่ ม. ถึงแก่กรรม ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ม.มีจำเลยทั้งสอง ป. และ พ. รวม 4 คน เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นฟ้องโจทก์ในคดีก่อนอ้างว่ามรดกของ ม. ตกได้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้น โดยขณะนั้น ป. บิดาโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ให้การในคดีก่อนแต่เพียงว่า ม.ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์และโจทก์ได้ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว ดังนั้น คดีก่อนจึงเป็นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งหมดเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้นหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ม. ตกได้แก่ ป.และต่อมาตกเป็นของโจทก์ และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งให้โจทก์ ย่อมเป็นการขัดกับคำให้การของโจทก์ในคดีก่อนและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งคำฟ้องโจทก์คดีนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของ ม. ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องให้วินิจฉัยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144วรรคหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นเมื่อคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองตั้งแต่ พ.ศ. 2525 โจทก์ต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งโดยอ้างว่าเป็นมรดกของ ป. และ พ.ได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายมานพ ชัยเจริญ ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 นายมานพ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 16875 และ 16876 เนื้อที่รวมสองโฉนดจำนวน 45 ไร่33 ตารางวา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2513 นายมานพได้ถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาทได้แก่จำเลยทั้งสองนายประทาน ชัยเจริญ นางพูนศรี ชัยเจริญ ซึ่งเป็นบิดามารดาของโจทก์และนายมานพ โดยได้ส่วนแบ่งคนละเท่า ๆ กันคนละ 5 ไร่ 2 งาน 54 1/8 ตารางวา นายประทานถึงแก่กรรมเมื่อปี 2517 นางพูนศรีถึงแก่กรรมเมื่อปี 2534 เมื่อบุคคลทั้งสองถึงแก่กรรมแล้ว ที่ดินส่วนแบ่งของบิดามารดาย่อมตกแก่โจทก์ โจทก์จึงได้รับมรดกดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 16875 และ 16876 ในส่วนของนายประทาน ชัยเจริญและนางพูนศรี ชัยเจริญ ให้แก่โจทก์จำนวนเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 8 1/4 ตารางวา โดยให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีหากจำเลยทั้งสองไม่ปฎิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 16875 และ16876 เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3679 ซึ่งมีเนื้อที่92 ไร่ 28 ตารางวา มีชื่อนายมานพ ชัยเจริญและโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2513 นายมานพถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสองขอให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินแปลงนี้ออกเป็นสองส่วนเท่ากัน ให้จำเลยทั้งสองได้ส่วนหนึ่ง แต่โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยทั้งสองจึงได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งที่ศาลชั้นต้นและศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองครึ่งหนึ่ง ต่อมาได้มีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นสองส่วนส่วนละ 45 ไร่ 33 ตารางวา โดยส่วนทางด้านทิศเหนือเป็นของโจทก์ ส่วนทางทิศใต้เป็นของจำเลยทั้งสองคือที่ดินพิพาท นายประทาน ชัยเจริญ ไม่เคยเรียกร้องว่ามีส่วนในที่ดินพิพาทและยังครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยทั้งสองมาเป็นเวลา 4 ปี จนถึงแก่กรรมในปี 2517 ส่วนนางพูนศรีก็ไม่เคยกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดได้แก่ตน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นอื่นต่อไปตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามฟ้องและตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า ทรัพย์มรดกคือที่ดินซึ่งเดิมนายมานพ ชัยเจริญ เจ้ามรดกและโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3679และได้ครอบครองร่วมกันมา ต่อมานายมานพถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2513 โจทก์ได้ครอบครองแทนทายาทนายมานพและไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกของนายมานพให้ทายาท จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยานายมานพและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของนายมานพจึงฟ้องขอให้แบ่งเมื่อ พ.ศ. 2522 โจทก์ให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3679 ทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้แบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวส่วนที่เป็นของนายมานพให้จำเลยทั้งสอง หลังจากคดีถึงที่สุดแล้วในชั้นบังคับคดีโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมกันโดยให้จำเลยทั้งสองได้ที่ดินพิพาทส่วนโจทก์ได้ที่ดินส่วนที่เหลือ ต่อมาได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทจากโฉนดเลขที่ 3679 เป็นโฉนดเลขที่ 16875 และ 16876 ใส่ชื่อจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2536 นายประทาน ชัยเจริญ และนางพูนศรี ชัยเจริญ เป็นบิดาและมารดานายมานพ นายประทานถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2517 นางพูนศรีถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2534 เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์แบ่งที่ดินส่วนที่เป็นของนายมานพให้จำเลยทั้งสอง การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นการได้มาโดยผลของคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่ได้มาโดยทางมรดกในฐานะที่เป็นทายาทของนายมานพที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลฎีกา การแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงขั้นตอนของการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาเท่านั้น โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษานั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่งนอกจากนี้ขณะที่นายมานพถึงแก่กรรม ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกนายมานพมีจำเลยทั้งสอง นายประทานและนางพูนศรีรวม 4 คน เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นฟ้องโจทก์ในคดีก่อนอ้างว่ามรดกของนายมานพตกได้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้น โดยขณะนั้นนายประทานบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมแล้ว แต่เมื่อโจทก์ให้การในคดีก่อนโจทก์ก็ไม่ได้ให้การว่าเมื่อนายมานพถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2513ที่ดินพิพาทเป็นมรดกจึงตกเป็นของนายประทานและนางพูนศรีซึ่งเป็นบิดามารดาโจทก์ ต่อมานายประทานถึงแก่กรรม เมื่อพ.ศ. 2517 ที่พิพาทส่วนที่เป็นของนายประทานจึงตกเป็นของโจทก์ ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตรของนายประทานด้วย โจทก์คงให้การแต่เพียงว่า นายมานพยกที่ดินพิพาทให้โจทก์และโจทก์ได้ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 แล้ว ดังนั้น คดีก่อนจึงเป็นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งหมดเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้นหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมานพตกได้แก่นายประทานและต่อมาตกเป็นของโจทก์ และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งให้โจทก์ ย่อมเป็นการขัดกับคำให้การของโจทก์ในคดีก่อนและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งคำฟ้องโจทก์คดีนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมีส่วนในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของนายมานพทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องให้วินิจฉัยเรื่องมรดกของนายประทานนั่นเอง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144วรรคหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นเมื่อคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองตั้งแต่ พ.ศ. 2525 โจทก์ต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งโดยอ้างว่าเป็นมรดกของนายประทานและนางพูนศรีอีก ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง