คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นลูกจ้างของโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีอันเป็นโรงงานของบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติจำกัด ซึ่งรัฐบาลมีทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบ โดยจำเลยมีหน้าที่ซ่อมเครื่องจักรของโรงงาน ฯ แต่ในระหว่างเกิดคดีนี้ได้รับคำสั่งจากผู้จัดการให้เป็นพนักงานชั่งอ้อยของโรงงาน จำเลยมีรายได้ประจำจากโรงงาน ดังนี้ ถือว่าจำเลยเป็นพนักงานตามความหมายของมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และการที่จำเลยได้ทำการชั่งอ้อยที่มีผู้นำมาส่งหรือขายให้แก่โรงงานนั้น ได้ชื่อว่าจำเลยมีหน้าที่ทำ หรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ตามความหมายในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัตินี้ การที่จำเลยถือโอกาสชั่งอ้อยจำนวนเดียวโดยโยกคันชั่ง 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ได้สลิพการชั่งอ้อยเกินมา 1 ชุด แล้วนำสลิพที่ได้เกินมานั้นไปใช้เป็นหลักฐาน ว่าเป็นการชั่งอ้อยของผู้มีชื่อในวันถัดมา อันจะทำให้โรงงานต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีชื่อเกินกว่าที่จะต้องจ่าย หากมีผู้พบปะทราบการกระทำนั้นเสียก่อนที่โรงงานจะจ่ายเงินถือว่าเป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานของโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี อันเป็นโรงงานของบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติจำกัด รัฐบาลถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบ จำเลยกระทำการด้วยใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตชั่งโกงน้ำหนักอ้อย โดยเจตนาจะให้โรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีต้องจ่ายเงินเกินกว่าที่จะต้องจ่าย แต่พนักงานโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีพบการกระทำผิดของจำเลยเสียก่อนที่จะต้องจ่ายเงินไป การกระทำผิดของจำเลยจึงไม่บรรลุผลขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓, ๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓, ๘ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ ให้จำคุก ๔ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี อันเป็นโรงงานของบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติจำกัดซึ่งรัฐบาลมีทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบ โดยจำเลยทำหน้าที่ซ่อมเครื่องจักรของโรงงานฯ แต่ในระหว่างเกิดคดีนี้ได้รับคำสั่งจากผู้จัดการให้เป็นพนักงานชั่งอ้อยของโรงงาน ฯ จำเลยมีรายได้ประจำจากโรงงาน ฯ ดังนี้ ถือว่าจำเลยเป็น “พนักงาน” ตามความหมายของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติที่กล่าวข้างต้น และการที่จำเลยได้รับมอบหมายแต่งตั้งจากผู้จัดการของโรงงาน ฯ ได้ทำการชั่งอ้อยที่มีผู้นำมาส่งหรือขายให้แก่โรงงาน ฯ นั้น ก็ได้ชื่อว่าจำเลยมีหน้าที่ทำหรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ตามความหมายในมาตรา ๘ การที่จำเลยถือโอกาสมีหน้าที่ชั่งอ้อยโดยทำการชั่งอ้อยของนายกัง โยกคันชั่ง ๒ ครั้งเป็นเหตุให้สลิพการชั่งอ้อยเกินมา ๑ ชุด แล้วนำสลิพที่ได้เกินมา ๑ ชุดนั้นไปใช้เป็นหลักฐานว่าเป็นการชั่งอ้อยของนางประทุมในวันถัดมาอันจะทำให้โรงงานฯ ต้องจ่ายเงินให้แก่นางประทุมเกินกว่าที่จะต้องจ่ายไป ๓๐๐ บาทเศษ หากแต่มีผู้พบปะทราบการกระทำนั้นเสียก่อนที่โรงงาน ฯ จะต้องจ่ายเงินค่าอ้อยให้นางประทุม เช่นนี้ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิด
พิพากษากลับ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share