คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4608/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ทนายความจำเลยที่ 2และที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น พร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความลงวันที่เดียวกันกับคำร้องระบุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้แต่งทนายความและมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความ แต่มิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้องตามที่จดทะเบียนไว้ ศาลชั้นต้นรับใบแต่งทนายความและอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้อง หลังจากนั้นมีการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีก 1 ครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์เป็นฉบับเดียวกันภายในกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น โดย ส.ทนายความเป็นผู้เรียงอุทธรณ์ พร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความ2 ฉบับ ลงวันที่เดียวกันกับอุทธรณ์ ฉบับหนึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งทนายความโดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 3 ส่วนอีกฉบับหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นผู้แต่งทนายความและลงลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความ ดังนี้ ในส่วนของจำเลยที่ 3 ต้องถือว่าจำเลยที่ 3ได้ยื่นคำร้องพร้อมกับจำเลยที่ 2 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์และได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นเพียงแต่ใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 3 ฉบับแรกไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 3ที่ได้จดทะเบียนไว้ แต่จำเลยที่ 3 ได้แก้ไขข้อบกพร่องโดยยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่ต่อศาลชั้นต้นพร้อมกับยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นรับใบแต่งทนายความฉบับใหม่ไว้แล้ว คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงมีผลสมบูรณ์และผูกพันจำเลยที่ 3 มาแต่เริ่มแรก ศาลอุทธรณ์จึงไม่จำเป็นต้องสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 อีก
แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาก่อน แต่การขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 23 ศาลมีอำนาจสั่งเองได้ โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอ และจะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษกับมีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยดังกล่าวหมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ ฉะนั้น หากมีพฤติการณ์นอกเหนือที่ศาลไม่อาจมีคำสั่งขยายเวลาให้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในการดำเนินการกระบวนพิจารณาย่อมนับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ไม่อาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ได้ นับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควรศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ได้ตามป.วิ.พ.มาตรา 23 และ 246

Share