คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุคคลที่จะจดทะเบียนรับรองบุตร หรือรับรองบุตรให้มีผลในกฎหมายได้บุคคลนั้นจะต้องเป็นบิดาของเด็กด้วยมิฉะนั้นการรับรองก็ไม่เกิดผล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ด.ญ.กมลพันธ์ เป็นบุตรโจทก์เกิดด้วยนายกมล ชมเสวีสามีแต่มิได้จดทะเบียนการสมรส แต่นายกมลได้รับรอง ด.ญ.กมลพันธ์เป็นบุตร ด.ญ.กมลพันธ์จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายกมล ๆถึงแก่กรรมมีมรดกราคาประมาณ 2 ล้านบาท มรดกอยู่ในความครอบครองดูแลของนางสาวบุตรีก่อนนายกมลตาย ทั้งนายกมลได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งหมดให้ ด.ญ.กมลพันธ์ตามสำเนาท้ายฟ้อง

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2495 จำเลยได้ยื่นฟ้องเรียกมรดกของนายกมลจาก น.ส.บุตรี โดยอ้างว่าเป็นพี่ชายต่างมารดากับนายกมล โจทก์จึงมาฟ้องเพื่อให้ศาลบังคับมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับมรดก และให้ด.ญ.กมลพันธ์รับมรดกคนเดียว

จำเลยต่อสู้ว่านายกมลเป็นบุคคลวิกลจริตไม่รู้สึกผิดชอบนายกมลไม่เคยมีภรรยาและไม่เคยมีบุตรจำเลยปฏิเสธลายเซ็นการรับรองบุตรและลายมือในพินัยกรรม

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์แต่ผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้ง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การจดทะเบียนรับรองบุตรตามประมวลแพ่งฯมาตรา 1526 หรือการรับรองบุตรตามมาตรา 1527 ก็ดี จะต้องกระทำโดยบุคคลที่เป็นบิดาเด็กถ้าไม่ใช่บิดาแล้ว การจดทะเบียน หรือการรับรองว่าเป็นบุตรนั้นก็หาทำให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาขึ้นมาไม่ ฯลณ ฯลฯ

จึงพิพากษาให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share