คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4599/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของวัดนก (ร้าง) อันเป็นที่ศาสนสมบัติแม้โจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เพราะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารให้ออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของวัด ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินเลขที่ 6168 ตามเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งเมื่อ40 กว่าปีมาแล้ว นางพ่วง ปงกะสี ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ทำยอมความตามเอกสารหมาย ล.4 มอบที่ดินนี้คืนให้เป็นที่ศาสนสมบัติคือเป็นที่ดินของวัดนก (ร้าง) ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2481 เป็นต้นไปทั้งได้มอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนให้กับทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยสำหรับโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์อ้างเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าได้ซื้อที่ดินจากนายมูซอ ปงกะลี นั้น ได้ความจากคำนายปัญญา ราชอัคคีเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 6 หัวหน้าฝ่ายทะเบียนสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมาเบิกความเป็นพยานโจทก์เองว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2515 นางชุ่ม ปงกะลี มาขอรับใบแทนโฉนดที่ดินรวม 3 โฉนดมีโฉนดเลขที่ 6168 อยู่ด้วย โดยนางชุ่มอ้างว่าโฉนดที่ดินเดิมสูญหาย ทั้ง ๆ ที่ความจริงโฉนดที่ดินดังกล่าวนางพ่วงได้มอบคืนให้กับทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วตั้งแต่ปี 2481 ดังนี้ ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินของวัดนก (ร้าง) อันเป็นที่ศาสนสมบัติ แม้โจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตอย่างไร ก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ เพราะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34ที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขับไล่จำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share