คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4597/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้อง บ. และจำเลยที่ 1 เป็นคดีละเมิด และเรียกค่าเสียหายศาลวินิจฉัยว่า ตึกแถวพิพาทในคดีนี้เป็นของโจทก์ มิได้เป็นส่วนควบกับที่ดินของเจ้าของที่ดินเดิม. การที่ บ. ยอมให้ จำเลยที่ 1เข้าไปอยู่จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 1พิพากษา ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 ส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้โจทก์ที่ 2 ตามสัญญา อันเป็นคนละประเด็นกันกับคดีก่อน มิได้เป็นกรณีที่ คู่ความรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ก่อสร้างและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกแถวเลขที่ 166/1 ถึง 166/7 รวม 7 คูหาปลูกอยู่บนที่ดินซึ่ง ม. กับ ส. สามีภริยามีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แล้ว ม. ในฐานะผู้จัดการสินบริคณห์สนธิทำสัญญาให้โจทก์ที่ 1 ก่อสร้างตึกแถวมีเงื่อนไขว่าให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกเก็บค่าก่อสร้างจากบุคคลภายนอกที่มาขอเช่าแล้วยกกรรมสิทธิ์ในตึกแถวนั้นให้เจ้าของที่ดินเมื่อจดทะเบียนการเช่าแล้วโดย ม. ได้เรียกเก็บค่าหน้าดินจากโจทก์ที่ 1 ไป 35,000 บาทกับให้โจทก์ที่ 1 ปรับปรุงตกแต่งบ้านของ ม. และ ส. เป็นค่าตอบแทนตึกแถวที่โจทก์ที่ 1 สร้างยังไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1อยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนการเช่าและเมื่อโจทก์ที่ 1 เรียกเก็บค่าก่อสร้างตึกแถวจากผู้ประสงค์จะเช่าแล้ว เจ้าของที่ดินจะต้องไปจดทะเบียนการเช่าให้มีกำหนด 15 ปี ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 80 บาท ครั้นก่อสร้างตึกแถวเสร็จได้ขยายระยะเวลาการเช่าออกไปเป็น 25 ปี จำเลยทั้งสองเป็นสามีภรรยากันและเป็นลูกค้าของโจทก์ที่ 1 มาก่อนได้ทราบข้อตกลงและเงื่อนไขในสัญญาก่อสร้างตึกแถวตลอดจนเรื่องระยะเวลาการเช่า ทั้งได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวโดยได้ชำระค่าตึกแถวเลขที่ 166/6, 166/7 ให้โจทก์ที่ 1 และมีการจดทะเบียนการเช่าตึกแถวเลขที่ดังกล่าวกันแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินที่โจทก์ที่ 1 ปลูกตึกแถวเลขที่ 166/5 จากเจ้าของที่ดินเดิม และแบ่งแยกโฉนดมาเป็นเลขที่ 16501 โดยตึกแถวเลขที่ 166/5 นี้โจทก์ที่ 2 ได้ชำระค่าก่อสร้างให้โจทก์ที่ 1 เรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนการเช่ามีกำหนดระยะเวลาเช่า 25 ปี ให้แก่โจทก์ที่ 2 จำเลยทั้งสองกลับเข้าไปครอบครองตึกแถวเลขที่ 166/5 ของโจทก์ที่ 1 จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนการเช่าตึกแถวเลขที่ 166/5 ในระยะเวลาเช่า25 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 80 บาท ให้โจทก์ที่ 2 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า ส. มิได้รู้เห็นยินยอมในการที่ ม. ทำสัญญาก่อสร้างตึกตามฟ้องกับโจทก์ที่ 1 ในการขยายระยะเวลาการเช่าตามสัญญาออกไปเป็น25 ปีนั้น โจทก์ที่ 1 ยอมยกตึกแถวที่สร้าง 1 คูหาให้ ม. เป็นการตอบแทน ซึ่ง ม.และ บ. ก็เลือกเอาตึกแถวเลขที่ 166/5 เมื่อ ม. ถึงแก่ความตายแล้ว บ. จึงขายที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2515 มีการจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยจึงมีกรรมสิทธิ์ในตึกนี้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาก่อสร้างตึกแถวผูกพันเฉพาะ ม. กับโจทก์ที่ 1 เท่านั้นทั้งโจทก์ที่ 2 ก็มิได้เป็นผู้เช่าหรือชำระค่าก่อสร้างตึกแถวตามฟ้องแต่อย่างใด แต่โจทก์ที่ 2 เข้ามาเป็นเครื่องมือให้มีการฟ้องร้องคดีเท่านั้น เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ไปจดทะเบียนการเช่าให้ ขอให้ยกฟ้อง
ประเด็นข้อพิพาทมีว่า
1. โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิให้เช่าตึกพิพาทจริงหรือไม่
2. สัญญาก่อสร้างตึกพิพาทไม่ผูกพันจำเลยทั้งสองจริงหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิให้เช่าตึกแถวเลขที่ 166/5พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ ได้ความว่าตามคำพิพากษาฎีกาที่ 279-280/2519 โจทก์ที่ 1 ฟ้อง บ. และจำเลยที่ 1 เป็นคดีละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตึกแถวพิพาทในคดีนี้เลขที่ 166/5 เป็นของโจทก์มิได้เป็นส่วนควบกับที่ดินของเจ้าของที่ดินเดิม การที่ บ. ยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าไปอยู่จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 1 จึงพิพากษาให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 ส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาก่อสร้างตึกแถวเอกสารหมาย จ.4 อันเป็นคนละประเด็นกันกับคดีก่อน มิได้เป็นกรณีที่คู่ความรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นข้อ 1 และข้อ 2 ดังกล่าวเสียก่อนแล้วพิพากษาใหม่

Share