คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4593/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนผู้ขนส่งสินค้าพิพาทของโจทก์ซึ่งอยู่ต่างประเทศและในระหว่างที่จำเลยทั้งสองร่วมกันขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำไปเก็บในคลังสินค้าลูกจ้างของจำเลยทั้งสองได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าพิพาทตกจากรถเสียหายจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ขนส่งแต่เป็นเพียงตัวแทนเรือและจำเลยทั้งสองมิได้เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือไปเก็บในคลังสินค้าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อ3ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันขนถ่ายสินค้าพิพาทหรือไม่เช่นนี้การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันขนถ่ายสินค้าพิพาทแล้ววินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมขนส่งในการขนส่งหลายทอดโดยเป็นผู้รับขนทอดสุดท้ายจึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคำฟ้องและคำให้การซึ่งรวมอยู่ในประเด็นข้อพิพาทข้อนี้นั่นเองหาได้วินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทไม่ ผู้ขนส่งสินค้าของโจทก์มีหน้าที่ในการนำสินค้าจากเรือขึ้นไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยก่อนส่งมอบให้แก่โจทก์จำเลยที่1เป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งทราบออกใบปล่อยสินค้าให้แก่โจทก์เรียกเก็บเงินค่าเปิดตู้จากโจทก์ไปจ่ายให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อรับสินค้าจากคลังสินค้ารับมอบสินค้าจากเรือปิยะภูมิเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์และมีหน้าที่แจ้งความเสียหายของสินค้าแก่โจทก์และบริษัทส. ผู้ขนส่งทอดแรกส่วนจำเลยที่2เป็นผู้ติดต่อทำพิธีการต่าง ๆกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำเรือเข้าเทียบท่าคือการท่าเรือแห่งประเทศไทยกรมศุลกากรกรมเจ้าท่าและกองตรวจคนเข้าเมืองและจำเลยที่2เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าจากเรือนำเข้าเก็บในคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยจำเลยที่2เป็นผู้ว่าจ้างให้บริษัทอ. ดำเนินการดังกล่าวจึงถือได้ว่ากรณีเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลโดยจำเลยทั้งสองต่างมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการขนส่งทอดสุดท้ายเพื่อให้สินค้าพิพาทได้ขนส่งถึงมีผู้ซื้อถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา608และ618ซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางทะเล แม้ที่ด้านหลังใบตราส่งจะมีลายเซ็นพร้อมตามประทับของบริษัทจ. ผู้ขนส่งลงไว้ก็ตามแต่ก็เป็นเพียงการลงชื่อไว้ลอยๆหาได้มีข้อความใดระบุลงไว้ให้ชัดแจ้งว่าผู้ส่งทราบและยอมรับข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่ปรากฏในใบตราส่งการลงชื่อสลักหลังดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงเพื่อโอนใบตราส่งให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์นำใบตราส่งไปเป็นหลักฐานในการรับสินค้าจึงถือไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงโดยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดดังกล่าวข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่จำเลยที่1อ้างจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา625

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์กระทำการแทนโจทก์ได้โจทก์มอบอำนาจให้นายสุธี ประยูรพฤฒามร ฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2531 โจทก์สั่งซื้อเครื่องจักรหล่อพลาสติกแบบอัดฉีดจากบริษัทจอสริคเคอร์มานน์ จำกัด ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (เยอรมันตะวันตก) จำนวน 4 ลัง ผู้ขายส่งสินค้าดังกล่าวมายังประเทศไทยโดยว่าจ้างบริษัทสแคนดัชท์ จำกัดในต่างประเทศซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในประเทศไทยเป็นผู้ขนส่งมีข้อตกลงในการขนส่งเป็นระบบซีเอฟเอสทั้งต้นทางและปลายทางที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ทำการขนส่งโดยเรือบุหงาประไหมในระหว่างทางเรือปิยะภูมิซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในประเทศไทยได้เป็นผู้รับช่วงถ่ายสินค้าจากเมืองท่าสิงคโปร์มายังกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2532 ในระหว่างที่จำเลยทั้งสองร่วมกันขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำไปเก็บในคลังสินค้า ลูกจ้างของจำเลยทั้งสองได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อ จำนวน 2 ลัง ตกจากรถบรรทุกหล่นพื้นเสียหายจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงว่าจ้างบริษัทแอสโซซิเอทมารีนเซอร์เวเยอร์ (ประเทศไทย) จำกัดสำรวจความเสียหายเบื้องต้นและมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1ให้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ต่อมาผู้สำรวจความเสียหายฝ่ายโจทก์กับตัวแทนผู้ส่งสินค้าและพนักงานสำรวจของบริษัทพีแอนด์เอแอดจัสเม้นท์ จำกัด ตัวแทนฝ่ายจำเลยได้ร่วมกันสำรวจความเสียหายของสินค้าพิพาทซึ่งพบว่าได้รับความเสียหายมากโจทก์จึงมีหนังสือเรียกให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นในขณะสินค้าอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 2 และส่งเรื่องดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 2 แล้ว ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งยอดความเสียหายเพิ่มเติมพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหาย 716,519 บาทแต่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะรับผิดไม่เกิน 200ปอนด์สเตอร์ลิง ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดต่อและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามไปยังจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 716,519 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะตราประทับในหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มิใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์มิใช่ผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเพราะโจทก์ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรเนื่องจากยังไม่ได้ชำระราคาให้แก่ผู้ขาย จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์หรือผู้ส่งสินค้าในฐานะผู้รับขน จำเลยที่ 1 รับจ้างทำของให้แก่บริษัทสแคนดัชท์ จำกัด ผู้ขนส่ง โดยมีหน้าที่เพียงรับแลกใบปล่อยสินค้ากับต้นฉบับใบตราส่ง แจ้งการมาถึงของเรือให้ผู้รับตราส่งทราบจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ในการขนถ่ายสินค้าจากเรือปิยะภูมิขึ้นรถบรรทุก จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจัดการให้มีการขนถ่ายสินค้าดังกล่าว ผู้ที่ทำให้สินค้าพิพาทตกจากรถบรรทุกลงบนพื้นดินมิใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 และไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกิดความจริง หากซ่อมจะเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน300,000 บาท ในใบตราส่งผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดไว้เพียงไม่เกิน100 ปอนด์สเตอร์ลิงต่อหนึ่งหีบห่อ ซึ่งผู้ส่งตกลงด้วยอย่างชัดแจ้งแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือร่วมขนส่งกับบริษัทสแคนดัชท์ จำกัด หรือจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2เป็นเพียงตัวแทนเรือคือทำพิธีการเรือเข้าเรือออกแทนเจ้าของเรือข้อตกลงขนส่งสินค้าพิพาทเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัทสแคนดัชท์ จำกัด ไม่เกี่ยวกับตัวการของจำเลยที่ 2 หรือตัวจำเลยที่ 2 ลูกจ้างคนงานของเรือปิยะภูมิได้ขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือขึ้นรถลากของบริษัทดาวสยามขนส่ง จำกัดในสภาพเรียบร้อยและส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ณ ลานคอนเทนเนอร์โรงพักสินค้า 9 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในสภาพเรียบร้อยสินค้าพิพาทมิได้ตกหล่นขณะอยู่ในความควบคุมดูแลของเรือปิยะภูมิหรือของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมขนถ่ายหรือรับจ้างขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือปิยะภูมิขึ้นรถบรรทุก จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพราะมิได้ทำสัญญารับขนในนามตัวการค่าเสียหายของโจทก์หากมีก็ไม่เกิน 200,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 654,595 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 พฤศจิกายน 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะร่วมกันชำระเสร็จ
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์สั่งซื้อเครื่องจักรหล่อพลาสติกแบบอัดฉีดจากบริษัทจอสริคเคอร์มานน์ จำกัด จากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน จำนวน 4 ลัง ราคาประมาณ 10,000,000บาทผู้ขายได้ว่าจ้างบริษัทแสคนดัชท์ จำกัด ขนส่งสินค้าดังกล่าวมายังประเทศไทยโดยเรือบุหงาประไหมและระหว่างทางมีการขนถ่ายสินค้าจากเรือบุหงาประไหมลงเรือปิยะภูมิที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อมาถึงประเทศไทยสินค้าเสียหาย2 ลัง มีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้นำสืบหรือนำเอกสารอื่นใดมาแสดงให้เห็นว่าตราสำคัญของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2เป็นตราสำคัญอันเดียวกับของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ที่กระทรวงพาณิชย์ และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะยังไม่ได้ชำระราคาสินค้าให้แก่ผู้ขาย ในข้อนี้โจทก์มีนายสุธี ประยูรพฤฒามรผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า ตราของโจทก์ที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เป็นตราอันเดียวกับที่ได้จดทะเบียนไว้ที่กระทรวงพาณิชย์และโจทก์ได้ชำระราคาสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายจรินทร์ วารินทราพรมาเบิกความอีกว่า การซื้อขายเครื่องจักรนี้ตกลงกันเป็นการซื้อแบบระบบซีแอนด์เอฟ ซึ่งหมายความว่าผู้ขายจะออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าระวางเรือบรรทุกให้ แต่สินค้าจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อตั้งแต่สินค้าอยู่ในเรือแล้ว และเมื่อผู้ขายส่งสำเนาใบตราส่งมาให้โจทก์ โจทก์ได้นำสำเนาใบตราส่งไปชำระเงินค่าสินค้าผ่านธนาคารอินโดสุเอช จำกัด ธนาคารจึงมอบต้นฉบับใบตราส่งของสินค้าที่โจทก์ซื้อพร้อมใบกำกับสินค้าและใบรายการบรรจุหีบห่อให้แก่โจทก์เพื่อนำไปรับสินค้า จำเลยที่ 1มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าตราที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจเป็นตราอันเดียวกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้และโจทก์เป็นเจ้าของสินค้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้ร่วมขนส่งในการขนส่งหลายทอดโดยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อ 3 ไว้ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันขนถ่ายสินค้าพิพาทหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นกลับสรุปในตอนท้ายของคำวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมขนส่งในการขนส่งหลายทอดโดยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายจึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ตั้งรูปฟ้องคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนผู้ขนส่งสินค้าพิพาทของโจทก์ซึ่งอยู่ต่างประเทศ และในระหว่างที่จำเลยทั้งสองร่วมกันขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำไปเก็บในคลังสินค้าลูกจ้างของจำเลยทั้งสองได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าพิพาทตกจากรถเสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ขนส่งแต่เป็นเพียงตัวแทนเรือและจำเลยทั้งสองมิได้เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือไปเก็บในคลังสินค้าดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันขนถ่ายสินค้าพิพาท แล้ววินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมขนส่งในการขนส่งหลายทอดโดยเป็นผู้รับขนทอดสุดท้ายจึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคำฟ้องและคำให้การซึ่งรวมอยู่ในประเด็นข้อพิพาทข้อนี้นั่นเอง หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทไม่
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับผู้ขนส่งรายอื่นอันจะเป็นการขนส่งหลายทอด โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายหรือไม่ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ขนส่งสินค้าของโจทก์มีหน้าที่ในการนำสินค้าจากเรือขึ้นไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยก่อนส่งมอบให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1เป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือปิยะภูมิให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งทราบ ออกใบปล่อยสินค้าให้แก่โจทก์ เรียกเก็บเงินค่าเปิดตู้จากโจทก์ไปจ่ายให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อรับสินค้าจากคลังสินค้า รับมอบสินค้าจากเรือปิยะภูมิเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์และมีหน้าที่แจ้งความเสียหายของสินค้าแก่โจทก์และบริษัทสแคนดัชท์ จำกัด ผู้ขนส่งทอดแรก ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อทำพิธีการต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำเรือเข้าเทียบท่าคือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมเจ้าท่าและกองตรวจคนเข้าเมือง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าจากเรือปิยะภูมินำเข้าเก็บในคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างให้บริษัทเอเซียเมอริไทม์ จำกัดดำเนินการดังกล่าว ดังนี้ เห็นได้ว่ากรณีเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล โดยจำเลยทั้งสองต่างมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการขนส่งทอดสุดท้ายเพื่อให้สินค้าพิพาทได้ขนส่งถึงมือผู้ซื้อ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608 และ 618 ซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางทะเล
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายระหว่างการขนถ่ายจริง และโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน654,595 บาท ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจะต้องรับผิดเพียง 200ปอนด์สเตอร์ลิง ตามที่ระบุไว้ด้านหลังใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1โดยผู้ขายสินค้าให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งได้ลงชื่อสลักหลังไว้ในใบตราส่งด้วยนั้น เห็นว่าแม้ที่ด้านหลังใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1 จะมีลายเซ็นพร้อมตราประทับของบริษัทจอสริคเคอร์มานน์ จำกัดลงไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการลงชื่อไว้ลอย ๆ หาได้มีข้อความใดระบุลงไว้ให้ชัดแจ้งว่าผู้ส่งทราบและยอมรับข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่ปรากฏในใบตราส่ง การลงชื่อสลักหลังดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงเพื่อโอนใบตราส่งให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์นำใบตราส่งไปเป็นหลักฐานในการรับสินค้า ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงโดยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดดังกล่าวข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่จำเลยที่ 1 อ้างจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625
พิพากษายืน

Share