คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4580/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่ให้โอกาสโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้หากจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรทั้งโดยตนเองหรือตัวแทนหรือเพียงแต่จำเลยมีผู้ติดต่อในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น ก็ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าวหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนด 2 ปี ก่อนนั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ซึ่งโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่สถานที่ดังกล่าวอยู่ในเขตศาลได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ 1 โดยเป็นผู้ติดต่อในการนำเรือให้ถึงท่าปลายทางและติดต่อนำเรือออกจากท่าปลายทางตลอดจนการติดต่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรือในกิจการขนส่งทางทะเลอันเป็นธุรกิจบริการของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ 1 ในราชอาณาจักรเมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงถือว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อันเป็นศาลที่ถือว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) ได้ โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยทางทะเลกับบริษัทผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัยดังกล่าว เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวแก่บริษัทผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัย โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวได้ การรับประกันภัยของโจทก์เป็นการรับประกันภัยสินค้าตามจำนวนหน่วย การระบุน้ำหนักไว้เป็นเพียงให้ทราบถึงน้ำหนักของสินค้ารวมทุกหน่วยเท่านั้น และความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าเป็นกรณีที่สินค้านั้นสูญหายไปบางส่วนจำนวน 10 หน่วยและสินค้าเสียหายเพราะเหล็กบุบย่นไปบางส่วน ซึ่งตามสัญญาประกันภัยได้ให้ความคุ้มครอง โจทก์ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยทางทะเลต่อผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยแม้โจทก์จะรับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลไว้จากผู้รับตราส่งภายหลังจากที่เรือซึ่งรับขนส่งสินค้าดังกล่าวออกเดินทางจากท่าเรือต้นทางแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าเรือดังกล่าวถึงท่าปลายทางภายหลังวันที่โจทก์รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเล ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งว่าความเสียหายมิได้เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 1 และมิได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวโดยโจทก์รู้อยู่แล้วเช่นนั้นยังจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งไปการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของโจทก์แก่ผู้รับตราส่งจึงเป็นการชำระหนี้ไปตามความรับผิดตามสัญญาประกันภัยทางทะเล หาใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและไม่สุจริต เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าหนี้และเป็นผู้รับตราส่งสำหรับสินค้าที่เอาประกันภัยแล้ว โจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งผู้เป็นเจ้าหนี้มาเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1ผู้ขนส่งซึ่งต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยไว้จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่ง บทบัญญัติมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534เป็นเรื่องการคำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายว่าผู้ขนส่งของทางทะเลจะต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลเพียงใด ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 384,833.75 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นวันที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันร้องขอให้โอนคดีนี้ไปพิจารณาพิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางภายในกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้และพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 385,150.05 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 384,833.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 7,500 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าเหล็กแผ่นรีดไฟฟ้า(Electrolytic Tin Plate) ซึ่งบรรทุกมาในเรือแองเจลิก (Angeligue) โดยมีบริษัทคาร์โนด์เมตัลบ๊อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับตราส่งเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพซึ่งเป็นท่าเรือปลายทาง ปรากฏว่าสินค้าตามใบตราส่งบางส่วนสูญหายและบางส่วนชำรุดบกพร่อง โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทคาร์โนด์เมตัลบ๊อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 384,833.75 บาทและรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยทั้งสอง คดีมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 1ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ประกอบกิจการเป็นตัวแทนในการทำพิธีการทางเรือหรือเรียกว่าชิปปิ้ง คือเป็นผู้ติดต่อและยื่นรายงานเกี่ยวกับเรือเข้า-ออกต่อกรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กองตรวจคนเข้าเมือง และการท่าเรือแห่งประเทศไทย แทนเจ้าของเรือหรือนายเรือที่มีสัญชาติต่างประเทศ ซึ่งไม่มีตัวแทนหรือสาขาในประเทศไทย จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตกลงรับจ้างขนส่งสินค้าขนถ่ายสินค้า และการส่งมอบสินค้าแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 เป็น “ตัวแทนเรือ” (Ship Agent หรือ Shipping Agent) เท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นตัวแทนประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักร จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง (2) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร (ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือการติดต่อดังกล่าวหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย” บทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตรานี้เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่ให้โอกาสโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้ หากจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรทั้งโดยตนเองหรือตัวแทนหรือเพียงแต่จำเลยมีผู้ติดต่อในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น ก็ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าวหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนด 2 ปี ก่อนนั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลยซึ่งโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่สถานที่ดังกล่าวอยู่ในเขตศาลได้ จำเลยที่ 1มีนายจตุพร อัครกำธร ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและยื่นต่อศาลพร้อมกับมาเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีตัวแทนหรือสำนักงานสาขาในประเทศไทย จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเรือ จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรือแองเจลิก ทั้งการนำเข้าและส่งออกโดยเป็นผู้ติดต่อและยื่นรายงานเกี่ยวกับเรือเข้า-ออกต่อกรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กองตรวจคนเข้าเมือง และการท่าเรือแห่งประเทศไทย แทนเจ้าของเรือหรือนายเรืออันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรายงานเรือเข้า-ออกต่อส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ส่วนกิจการอื่นใดนอกเหนือจากด้านพิธีการทางเรือ จำเลยที่ 2กระทำได้ต่อเมื่อได้รับมอบหมายแต่งตั้งจากเจ้าของเรือหรือนายเรือหรือสายการเดินเรือซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือเป็นกรณี ๆ ไปเท่านั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้องโดยเรือแองเจลิก ผู้รับตราส่งต้องนำใบตราส่งที่ออกโดยจำเลยที่ 1 มาแลกกับใบปล่อยสินค้าที่บริษัทจำเลยที่ 2 จึงจะรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้และปรากฏตามรายการสินค้าขาดและเกินจากบัญชีสินค้าเรือเอกสารหมาย จ.9 ว่าบริษัทจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับทราบการขาดจำนวนสินค้าดังกล่าวและตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.8 ก็ปรากฏตราประทับของบริษัทจำเลยที่ 2 ดังนี้ จากคำเบิกความของนายจตุพรพยานจำเลยที่ 1 และเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ 1 เพราะการจะขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้ซื้อสินค้าก็จะต้องจัดการส่งให้ถึงท่าเรือปลายทางตามที่กำหนดไว้ในใบตราส่งซึ่งจะต้องมีการรายงานเรือเข้า-ออกต่อทางราชการและรัฐวิสาหกิจตามข้อกำหนดของกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการนำเรือให้ถึงท่าปลายทางและติดต่อนำเรือออกจากท่าปลายทาง ตลอดจนการติดต่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรือในกิจการขนส่งทางทะเลอันเป็นธุรกิจบริการของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ 1 ในราชอาณาจักร เมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงถือว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3(2)(ข) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อันเป็นศาลที่ถือว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตามมาตรา 4(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก่อนที่คดีนี้จะโอนมายังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาในประเด็นนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยและมีสิทธิรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยที่ 1หรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ตารางกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 ไม่ถือว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยตามกฎหมาย ความจริงมีกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ แต่โจทก์ไม่ได้นำมาแสดงจึงเท่ากับโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยสินค้าคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์มีนายอังกูร ธรรมนูญรักษ์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มาเบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าเหล็กแผ่นรีดไฟฟ้าจำนวน 175 หน่วย น้ำหนัก 284.90 เมตริกตัน(ที่ถูกเป็น 284.909 เมตริกตัน) ไว้จากบริษัทคาร์โนด์เมตัลบ๊อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) โดยสินค้าดังกล่าวได้ขนส่งมาทางเรือเดินทะเลชื่อแองเจลิก จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมายังประเทศไทยเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่กรุงเทพมหานครในวงเงินประกันภัยจำนวน 265,347 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยจำนวน6,700,693.50 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีอยู่3 แผ่น แผ่นแรกเป็นเอกสารที่นำมาติดปะหน้าเอกสารแผ่นที่ 2 และแผ่นที่ 3 แม้เอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวแผ่นแรกจะระบุว่าเป็นตารางกรมธรรม์ประกันภัยและเป็นเอกสารที่แนบติดกับกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 200/95 013173/50 และเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว แต่เอกสารแผ่นแรกดังกล่าวได้ระบุชื่อและสถานที่ตั้งบริษัทโจทก์ ระบุว่าผู้เอาประกันภัยคือบริษัทคาร์โนด์เมตัลบ๊อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) วัตถุที่เอาประกันภัยคือเหล็กแผ่นรีดไฟฟ้าจำนวน 175 หน่วย น้ำหนัก 284.909 เมตริกตัน ซึ่งขนส่งโดยเรือแองเจลิก ออกเดินทางวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 จากเมืองโปฮัง ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีถึงกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มูลที่เอาประกันภัยจำนวน 265,347 ดอลลาร์สหรัฐ เงื่อนไขแห่งการคุ้มครองตามกรมธรรม์ความรับผิดของผู้รับประกันภัยหรือภัยที่รัเสี่ยงกรณีสงคราม การนัดหยุดงาน และความรับผิดกรณีสินค้าประสบวินาศภัยซึ่งรายละเอียดของเงื่อนไขการคุ้มครองและความรับผิดของผู้รับประกันภัยหรือภัยที่รับเสี่ยงดังกล่าวปรากฏอยู่ในเอกสารแผ่นแรกหน้าหลัง แผ่นที่ 2 และแผ่นที่ 3 เห็นได้ว่าในเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวมีสาระสำคัญของสัญญาประกันภัยทางทะเลทั้งสิ้น ทั้งในแผ่นที่ 3 ของเอกสารหมาย จ.4 ก็เขียนไว้ชัดว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเล (Marine Cargo Policy)ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวเป็นกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลอันเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยทางทะเล และโจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยทางทะเลตามเอกสารหมาย จ.4 กับบริษัทคาร์โนด์เมตัลบ๊อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัยดังกล่าวแล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวแก่บริษัทดังกล่าวผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัยโจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวได้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องให้จำเลยที่ 1รับผิดเพราะภัยที่เกิดขึ้นอยู่ในข้อยกเว้นความรับผิดของโจทก์ผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยและภัยมิได้เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาแห่งความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในทำนองว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าตามคำฟ้องและตามที่โจทก์นำสืบเป็นจำนวนน้ำหนักและตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลเอกสารหมายจ.4 มีเงื่อนไขว่า การประกันภัยดังกล่าวไม่คุ้มครองถึงความเสียหายในกรณีที่น้ำหนักของสินค้าขาดหายไป จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในกรณีที่น้ำหนักของสินค้าขาดหายไปและตามตารางกรมธรรม์ดังกล่าวมีเงื่อนไขคุ้มครองความเสียหายนับแต่วันรับประกันภัยคือวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 โดยไม่ย้อนหลังไปถึงวันที่เรือออกเดินทางคือวันที่7 พฤศจิกายน 2538 และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใด โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโดยไม่มีหน้าที่ที่ต้องจ่าย เป็นการชำระหนี้โดยอำเภอใจและไม่สุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว ในข้อนี้ปรากฏตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล เอกสารหมาย จ.4หรือกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลอันเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยทางทะเลดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นว่า การประกันภัยดังกล่าวให้ความคุ้มครองถึงความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่เอาประกันภัย เว้นแต่ความเสียหายในกรณีที่น้ำหนักของสินค้าที่เอาประกันภัยขาดหายไปโดยมิได้เกิดจากภัยที่รับประกันภัย โจทก์ฟ้องว่าโจทก์รับประกันภัยสินค้าเหล็กแผ่นรีดไฟฟ้าจำนวน 175 หน่วย น้ำหนักสุทธิ 284.909 เมตริกตันไว้จากผู้รับตราส่ง แต่จำเลยทั้งสองส่งมอบสินค้าดังกล่าวแก่ผู้รับตราส่งขาดไปจำนวน10 หน่วย คิดเป็นน้ำหนักรวม 16.04 เมตริกตัน และสินค้าที่ส่งมอบบางส่วนได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหายรวมจำนวนทั้งสิ้น 384,833.75 บาท และข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์จากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายนาถ ทรวงโพธิ์ผู้สำรวจความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งของบริษัทเบลอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์เวย์เยอรส์แอนด์ แอ๊ดจัสเตอรส์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า สินค้าเหล็กแผ่นรีดไฟฟ้าขาดหายไป 10 หน่วย หรือ 10 ชุด เป็นจำนวน 115,000 แผ่น ตามรายการสินค้าขาดและเกินจากบัญชีสินค้าเรือเอกสารหมาย จ.9 และสินค้าเสียหายเพราะแผ่นเหล็กบุบย่นจำนวน 367 แผ่น ตามรายการสำรวจสินค้าเอกสารหมาย จ.10 ดังนี้เห็นได้ว่าการรับประกันภัยของโจทก์ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวเป็นการรับประกันภัยสินค้าตามจำนวนหน่วยการระบุน้ำหนักไว้เป็นเพียงให้ทราบถึงน้ำหนักของสินค้าจำนวนทั้งหมด 175 หน่วยเท่านั้น หาใช่การรับประกันภัยสินค้าเป็นจำนวนน้ำหนักดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ไม่ และความเสียที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าวในระหว่างการขนส่งก็มิใช่ความเสียหายในกรณีที่น้ำหนักของสินค้าขาดหายไป เพราะสินค้าที่จำเลยทั้งสองส่งมอบแก่ผู้รับตราส่งโจทก์มิได้ฟ้องและนำสืบว่าน้ำหนักได้ขาดหายไปในระหว่างการขนส่งแต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่สินค้านั้นสูญหายไปบางส่วนจำนวน 10 หน่วย และสินค้าเสียหายเพราะแผ่นเหล็กบุบย่นไปบางส่วน ซึ่งการประกันภัยตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 ได้ให้ความคุ้มครองถึงความสูญหายและเสียหายของวัตถุที่เอาประกันภัยดังกล่าว กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่สัญญาประกันภัยไม่ให้ความคุ้มครองถึงความเสียหายในกรณีที่น้ำหนักของสินค้าขาดหายไป โจทก์ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยทางทะเลต่อผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและแม้โจทก์จะรับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลดังกล่าวไว้จากผู้รับตราส่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นภายหลังจากที่เรือแองเจลิกซึ่งรับขนส่งสินค้าดังกล่าวออกเดินทางจากท่าเรือต้นทางเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 แล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าเรือแองเจลิกถึงท่าปลายทางที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งว่าความเสียหายมิได้เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 1 และมิได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวโดยโจทก์รู้อยู่แล้วเช่นนั้นยังจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งไปประกอบกับปรากฏชัดตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 2 หน้า 2 ข้อ 8.2 ว่า “ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนสำหรับวินาศภัยที่ได้เอาประกันภัยไว้ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาคุ้มครองของการประกันภัยนี้ ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าวินาศภัยได้เกิดขึ้นก่อนสัญญาประกันภัยนี้มีผลบังคับหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้รู้ว่าได้เกิดวินาศภัยนั้นขึ้นแล้ว แต่ผู้รับประกันภัยยังไม่รู้” (The Assured shall be entitled to recover for insured loss occurring during the period covered by this insurance, notwitstanding that the loss occurred before the contract of insurance was concluded, unless the Assured were aware of the loss and the Underwriters were not.) ซึ่งข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ผู้รับประกันภัยได้รู้ว่าวินาศภัยหรือความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งได้เกิดขึ้นก่อนที่สัญญาประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 จะมีผลบังคับแล้วยังจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยอีก ดังนี้ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของโจทก์แก่ผู้รับตราส่ง จึงเป็นการชำระหนี้ไปตามความรับผิดตามสัญญาประกันภัยทางทะเลเอกสารหมาย จ.4 หาใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ไม่ เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าหนี้และเป็นผู้รับตราส่งสำหรับสินค้าที่เอาประกันภัยแล้วโจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งผู้เป็นเจ้าหนี้มาเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งซึ่งต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ดังกล่าวจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งด้วยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายจำนวน384,833.75 บาท ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้เพราะโจทก์มิได้คำนวณราคาสินค้าตามส่วนโดยเทียบกับราคาสินค้าอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาตรา 61 นั้น เห็นว่า โจทก์มีนายอังกูร ธรรมนูญรักษ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าโจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าเหล็กแผ่นรีดไฟฟ้าจำนวน 175 หน่วย น้ำหนัก 284.90 ตัน(ที่ถูกเป็น 284.909 เมตริกตัน ตามใบรายการบรรจุหีบห่อเอกสารหมาย จ.5) ในวงเงินจำนวน 265,347 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยจำนวน 6,700,693.50 บาท โดยมีสาระสำคัญว่า หากสินค้าดังกล่าวประสบวินาศภัยได้รับความเสียหายหรือสูญหาย โจทก์จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยภายในวงเงินที่รับประกันภัยไว้ ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลเอกสารหมาย จ.4 พยานโจทก์ปากนี้ได้เบิกความตอบคำถามค้านว่าในการรับประกันภัยสินค้าทางทะเล โดยทั่วไปแล้วจะรับประกันภัยในวงเงินเกินกว่าราคาสินค้าจริงประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากเป็นการบวกค่าใช้จ่ายในการขนส่งไว้ด้วย จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวเห็นได้ว่าเงินประกันภัยจำนวน 6,700,693.50 บาท เป็นมูลประกันภัยในของซึ่งนับรวมทั้งราคาของหรือสินค้ากับค่าระวางส่งของไปยังสถานที่ส่งมอบแก่ผู้รับตราส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเนื่องจากการส่งของนั้นด้วย เมื่อโจทก์ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนความสูญหายและความเสียหายของสินค้าดังกล่าว โจทก์จึงชอบที่จะคิดมูลประกันภัยในสินค้านั้นโดยนับรวมทั้งราคาของและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เนื่องด้วยการส่งของนั้นเข้าไปด้วยได้ หาใช่ต้องคิดคำนวณมูลประกันภัยในสินค้านั้นตามส่วนโดยเทียบกับราคาของอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกันที่ยังเหลือในเวลาส่งมอบที่ปลายทาง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 61 ดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ไม่ เพราะบทบัญญัติมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องการคำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายว่าผู้ขนส่งของทางทะเลจะต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลเพียงใด บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share