คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4577/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของโจทก์ แต่ต่อมาโจทก์ขายให้แก่จำเลยและจำเลยได้ขอออก หนังสือรับรองการทำประโยชน์มีชื่อจำเลย เป็นเจ้าของ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวตกอยู่ ภายใต้เงื่อนไขการห้ามมิให้โอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 แม้จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายและโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วก็ตาม แต่เมื่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะการโอนโดยทางนิติกรรมแต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีบัญญัติไว้ในมาตรา 31 วรรคสองว่าความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ที่ดินนั้นตกทอดทางมรดก ซึ่งการตกทอดทางมรดกก็มิใช่นิติกรรม จึงเป็น การเน้นให้เห็นเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวว่า แม้การที่ ที่ดินซึ่งอยู่ในเงื่อนไขห้ามโอนนี้ต้องเปลี่ยนมือไปเพราะ การตกทอดทางมรดกซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมายมรดกก็ยังต้อง บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ ดังนั้นการใดที่เป็นเหตุให้ที่ดิน ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขห้ามโอนโอนจะต้องโอนไปและการนั้น มิได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ในมาตรา 31 วรรคสอง ย่อมไม่อาจ โอนที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยการนั้นได้ในทุกกรณี โจทก์จึง ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็น ชื่อของโจทก์ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญเมื่อประมาณต้นปี 2528 จำเลยทั้งหกตกลงจะซื้อที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ในราคา 300,000 บาท โดยตกลงจะชำระเงินให้ครบถ้วนภายในวันที่ 31 กันยายน 2528 โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยทั้งหกแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งหกได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์รวมหกแปลง และได้ชำระค่าที่ดินให้โจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 170,000 บาท คงค้างชำระ 130,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งหมดผิดนัดตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2528 เป็นต้นมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งหกชำระค่าที่ดินที่ค้างชำระ จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ต่อมาได้ออกจากที่ดินทั้งหกแปลงไป โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายให้จำเลยทั้งหกส่งมอบที่ดินคืนโจทก์แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 4222 ถึง 4227และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหกแปลงให้โจทก์ด้วยค่าใช้ของจำเลยทั้งหก หากจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก
จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ระหว่างรอการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ขอถอนฎีกาสำหรับจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 6 ไม่แถลงคัดค้าน ศาลฎีกาอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งจำเลยทั้งหกมีชื่อเป็นเจ้าของและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขการห้ามมิให้โอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 31 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งหกโอนไม่ได้โจทก์ฎีกาว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ผิดสัญญา และโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว โจทก์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงกลับสู่ฐานะเดิมและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาเป็นชื่อโจทก์เพื่อโจทก์ได้กลับสู่ฐานะเดิม กรณีจึงมิใช่การโอนโดยนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อันต้องห้ามมิให้โอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 31 เพราะการห้ามโอนตามกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ห้ามเฉพาะการโอนโดยทางนิติกรรมเท่านั้น โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีนี้ได้เห็นว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 31 วรรคหนึ่งไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะการโอนโดยทางนิติกรรมแต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีบัญญัติไว้ในมาตรา 31 วรรคสอง ว่าความในวรรคหนึ่งมีให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ที่ดินนั้นตกทอดทางมรดกซึ่งการตกทอดทางมรดกก็มิใช่นิติกรรมจึงเป็นการเน้นให้เห็นเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวว่าแม้การที่ที่ดินซึ่งอยู่ในเงื่อนไขห้ามโอนนี้ต้องเปลี่ยนมือไปเพราะการตกทอดทางมรดกซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมายมรดกก็ยังต้องบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ดังนั้น การใดที่เป็นเหตุให้ที่ดินซึ่งอยู่ในเงื่อนไขห้ามโอนจะต้องโอนไปและการนั้นมิได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ในมาตรา 31 วรรคสอง ย่อมไม่อาจโอนที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยการนั้นได้ในทุกกรณี ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง มิได้เป็นไปตามที่โจทก์ฎีกา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์
พิพากษายืน

Share