แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ณ ภูมิลำเนาตามฟ้องมี ว. อายุประมาณ 23 ปี เต็มใจรับหมายไว้แทนเพราะอยู่บ้านเดียวกัน จำเลยที่ 1 กับ ว. นามสกุลเดียวกัน และไม่ปรากฎว่า ว. ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้ส่งหมายเรียกให้บันทึกเหตุผลที่รับหมายเรียกสำเนาคำฟ้องแทนว่าเพราะจำเลยที่ 1 ได้เดินทางไปติดต่อธุรกิจกับลูกค้าที่ต่างจังหวัดจึงถือว่าได้มีการส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1เดินทางไปติดต่อธุรกิจกับลูกค้าที่ต่างจังหวัดในวันที่มีการส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง จำเลยที่ 1 อ้างว่า ไปต่างจังหวัดระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ถึง 10 มีนาคม 2528 เมื่อกลับมาถึงบ้านจึงทราบว่าถูกฟ้องแต่จำเลยที่ 1 หาได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การในเวลาอันสมควรไม่ เพิ่งมายื่นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 อันเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ พฤติการณ์เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยที่ 1ไปครั้งหนึ่งแล้ว ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าป่วยและไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อศาล ครั้นถึงวันนัดถัดมาจำเลยที่ 1ขอเลื่อนอีกอ้างว่าได้เดินทางไปประเทศอินเดียยังไม่กลับทั้งทนายโจทก์ก็คัดค้านว่าไม่ควรให้เลื่อน ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่นำพาต่อกำหนดนัดของศาลและเป็นการประวิงคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดคำให้การ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดพิจารณาด้วย
ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องว่า มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและคดีมีทางชนะคดีโจทก์ ขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เพราะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และได้นัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ถึงวันนัดจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนการพิจารณาอ้างเหตุท้องเสียอย่างกะทันหัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณานัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ไปอีกเกือบ 1 เดือน โดยกำชับไว้ว่านัดหน้าหากจำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ จะถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจเบิกความ ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาอีกอ้างว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่กลับจากต่างประเทศ ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 ประวิงคดี จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณา และนัดอ่านคำพิพากษาในเวลา 16 นาฬิกาของวันเดียวกัน แต่ต่อมาก่อนอ่านคำพิพากษา ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอยื่นคำให้การและขอเลื่อนการพิจารณาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 53,500บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดคำให้การหรือไม่ และการที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนการพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนว่าศาลชั้นต้นหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 โดยบุคคลอื่นรับไว้แทนเมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่14 พฤษภาคม 2528 ทั้งได้แจ้งนัดให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วเมื่อวันที่21 มีนาคม 2528 ครั้งถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ หมายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าในช่วงระหว่างวันที่ 20กุมภาพันธ์ ถึง 10 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1 มีความจำเป็นต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจสำคัญกับลูกค้าที่ต่างจังหวัดอยู่เสมอ แต่ละครั้งนานไม่ต่ำกว่าครึ่งเดือน เมื่อจำเลยที่ 1 เดินทางกลับมา พนักงานของจำเลยที่ 1 ได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่รับไว้แทนมามอบให้ซึ่งขณะนั้นได้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การแล้ว จำเลยที่ 1จึงทราบว่าถูกฟ้องเป็นคดีนี้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้รีบติดต่อทนายความเข้าต่อสู้คดี จำเลยที่ 1 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การจึงขออนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การ และในโอกาสเดียวกันนั้นเสมียนทนายจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำแถลงขอเลื่อนการพิจารณาอ้างว่าทนายจำเลยที่ 1 ติดว่าความในคดีอื่น ศาลชั้นต้นสอบทนายโจทก์แล้วทนายโจทก์แถลงคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 จงใจประวิงคดีไม่ควรให้เลื่อนคดี ศาลฎีกาเห็นว่า ตามรายงานการเดินหมายเมื่อวันที่23 กุมภาพันธ์ 2528 ได้มีการส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1ณ ภูมิลำเนาตามฟ้องแล้วมีนายวรพจน์ โพธิปริสุทธิ์ อายุประมาณ23 ปี เต็มใจรับหมายไว้แทนเพราะอยู่บ้านเดียวกัน ทั้งนี้จำเลยที่ 1กับนายวรพจน์ ผู้รับหมายไว้แทนเป็นบุคคลนามสกุลเดียวกันและไม่ปรากฎว่านายวรพจน์ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้ส่งหมายเรียกให้บันทึกเหตุผลที่รับหมายเรียกสำเนาคำฟ้องแทนว่าเพราะจำเลยที่ 1ได้เดินทางไปติดต่อธุรกิจกับลูกค้าที่ต่างจังหวัดแต่ประการใดจึงถือว่าได้มีการส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับไปถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1ได้เดินทางไปติดต่อธุรกิจกับลูกค้าที่ต่างจังหวัดในวันที่มีการส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องดังที่กล่าวอ้างอย่างไรก็ดีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ไปต่างจังหวัดระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ถึง 10 มีนาคม 2528 เมื่อกลับมาถึงบ้านจึงทราบว่าถูกฟ้อง ข้อเท็จจริงตามคำร้องนี้ แสดงว่าหลังจากไปต่างจังหวัดกลับมาถึงบ้านแล้ว คือประมาณวันที่ 10 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1 ก็ได้ทราบถึงการถูกฟ้องเป็นคดีนี้ทันที ในกรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะยื่นคำให้การโดยไม่จงใจจะประวิงคดี ก็น่าจะยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การหลังจากกลับมาถึงบ้านแล้วภายในเวลาอันสมควรเพราะเมื่อกลับมาถึงบ้านข้อขัดข้องในการยื่นคำให้การก็หมดไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1หาได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การในเวลาอันสมควรไม่ เพิ่งมายื่นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 อันเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งเป็นระยะเวลาถึง 2 เดือนเศษหลังจากทราบว่าถูกฟ้องพฤติการณ์เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ
ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนการพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบนั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2528 ถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอ้างว่า ตัวจำเลยที่ 1 ป่วยกะทันหันด้วยโรคทางเดินอาหารแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อศาล ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ในวันที่ 29 สิงหาคม 2528โดยกำชับว่า ในนัดหน้าหากจำเลยที่ 1 ไม่มาศาลไม่ว่ากรณีใด ๆ จะถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจเบิกความ ครั้งถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 1 ให้เสมียนทนายยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ได้เดินทางไปประเทศอินเดีย ยังไม่กลับ ขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยที่ 1 ไปอีกนัดหนึ่ง ดังนี้เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยที่ 1 ไปครั้งหนึ่งแล้วทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าป่วยและไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อศาล ครั้นถึงวันนัดถัดมาจำเลยที่ 1กลับขอเลื่อนอีกอ้างว่า ได้เดินทางไปประเทศอินเดียยังไม่กลับทั้งทนายโจทก์ก็คัดค้านว่าไม่ควรให้เลื่อน พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1เช่นนี้ เป็นการไม่นำต่อกำหนดนัดของศาลและเป็นการประวิงคดีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1ออกไปอีกจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน