แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของเช็คซึ่งธนาคาร ร.ในต่างประเทศมีคำสั่งให้ธนาคารจำเลยใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่ห้างฯ อ.เพื่อชำระหนี้ค่าตั๋ว โดยสารเครื่องบิน แต่ห้างฯ อ. ไม่ได้รับเช็คดังกล่าว โจทก์จึงได้ส่งเช็คฉบับใหม่มาชำระให้แก่ห้างฯ อ.อีกฉบับหนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คฉบับแรกซึ่งมีผู้ปลอมตรา ประทับและลายมือชื่อผู้จัดการห้างฯ อ. มาเรียกเก็บเงินไปแล้วดังนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าของเช็คพิพาทผู้มีสิทธิในเงินจำนวนที่สั่งจ่ายตามเช็คซึ่งยังไม่ตก ไปถึงมือผู้รับเงินตามความประสงค์ของโจทก์ ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ธนาคารจำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทอันเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะแก่ธนาคาร ส. ซึ่งส่งเช็คมาเรียกเก็บเงิน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คขีดคร่อมที่ส่งมาเรียกเก็บโดยธนาคารอื่น เป็นหน้าที่ของธนาคารผู้รับเช็คที่จะตรวจสอบไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารผู้ใช้เงินดังนั้น การที่จำเลยมิได้ตรวจสอบลายมือชื่อและตรา ประทับของผู้สลักหลังในเช็คพิพาท ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คไปโดยประมาทเลินเล่อ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ส่งเช็คของธนาคารริยาร์ดแห่งประเทศซาอุดิอาระเบียคิดเป็นเงินไทยจำนวน 56,494.30 บาท สั่งให้ธนาคารจำเลยจ่ายเงินแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.ที. การท่องเที่ยวเพื่อชำระหนี้ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินและค่าโรงแรม ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ ที. การท่องเที่ยวแจ้งโจทก์ว่ายังไม่ได้เช็ค โจทก์จึงส่งเช็คฉบับใหม่ไปให้ และติดต่อจำเลยให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับก่อน แต่จำเลยแจ้งว่าได้จ่ายเงินตามเช็คไปแล้ว โจทก์ได้ตรวจสอบจึงพบว่าตราประทับและลายมือชื่อผู้มีอำนาจของห้างฯ ที่ปรากฏในรายการสลักหลังเช็คเป็นตราประทับและลายมือปลอม ดังนั้นหากจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบตราประทับและลายมือชื่อของห้างฯซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยด้วยแล้ว ย่อมทราบได้โดยง่ายว่ารายการสลักหลังนั้นเป็นการสลักหลังปลอม แต่จำเลยมิได้ทำการตรวจสอบอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ จึงฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งมิใช่เจ้าของที่แท้จริงหรือคู่สัญญาใด ๆ ในเช็ค จำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตปราศจากประมาทเลินเล่อ โดยใช้เงินตามเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาบางนาซึ่งมีผลเสมือนได้จ่ายเงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของเช็คที่แท้จริงจึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยใช้เงินตามเช็คไปโดยความประมาทเลินเล่อ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีข้อวินิจฉัยในประเด็นแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของเช็คฉบับพิพาทซึ่งธนาคารริยาร์ดแห่งประเทศซาอุดิอาระเบียมีคำสั่งให้ธนาคารจำเลยใช้เงินตามจำนวนที่ระบุในเช็คให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.ที. การท่องเที่ยวซึ่งเป็นผู้รับเงินตามเช็ค เพื่อชำระหนี้ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินและค่าโรงแรม แต่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.ที. การท่องเที่ยวไม่ได้รับเช็คฉบับดังกล่าว โจทก์จึงได้ส่งเช็คฉบับใหม่มาชำระหนี้ให้แก่ผู้รับเงินดังกล่าวอีกฉบับหนึ่ง และปรากฏว่าธนาคารจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คฉบับพิพาทซึ่งมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้จัดการและตราประทับมาเรียกเก็บไปก่อนแล้วอันเป็นผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังนี้เห็นว่าโจทก์ในฐานะเจ้าของเช็คฉบับพิพาทผู้มีสิทธิในเงินจำนวนที่สั่งจ่ายตามเช็คซึ่งยังไม่ตกไปถึงมือผู้รับเงินตามความประสงค์ของโจทก์ มีสิทธิเรียกร้องต่อธนาคารจำเลยให้รับผิดในความเสียหายที่โจทก์ได้รับเนื่องจากได้ใช้เงินไปโดยประมาทเลินเล่อได้ตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
เมื่อโจทก์มีอำนาจฟ้องแล้ว คดีมีประเด็นพิพาทต่อไปว่า ธนาคารจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คไปโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่…
ในประเด็นพิพาทดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตั๋วเงินฉบับพิพาทตามเอกสารหมาย จ.15 เป็นตั๋วที่ออกมาแต่ต่างประเทศโดยธนาคารริยาร์ด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ลงวันที่ 30 พฤษภาคม2525 สั่งให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด จ่ายเงินจำนวน 2,467 เหรียญสหรัฐอเมริกา ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.ที. การท่องเที่ยวตั๋วเงินฉบับพิพาทจึงเป็นตั๋วประเภทเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 987 ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.ที. การท่องเที่ยวซึ่งมีนายอนันต์ ประมุขชัย เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไม่ได้รับเช็คฉบับพิพาทที่โจทก์ได้ส่งมาทางไปรษณีย์ และต่อมาเมื่อวันที่8 มิถุนายน 2525 ได้มีนางยุวดี แซ่นิ้ม นำเช็คพิพาทเข้ามาบัญชีที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด ธนาคารผู้รับเช็คดังกล่าวได้ส่งมาเรียกเก็บที่ธนาคารจำเลยซึ่งได้จ่ายเงินให้แก่ธนาคารผู้เรียกเก็บไป ปรากฏว่ารายการสลักหลังชื่อและตราประทับของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.ที. การท่องเที่ยว ผู้รับเงินเป็นรายการสลักหลังปลอมห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.ที.การท่องเที่ยว เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารจำเลย ในปัญหาว่าธนาคารจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คไปโดยสุจริตและปราศากประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.15 เป็นเช็คขีดคร่องเฉพาะให้แก่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาบางนา ผู้ส่งมาเรียกเก็บที่ธนาคารจำเลยเห็นว่า แม้โจทก์จะนำสืบว่า ลายมือชื่อและตราประทับที่ปรากฏในเช็คพิพาทจะเป็นสลักหลังปลอมก็ตาม แต่นายจุตพันธ์ จิตต์ปราณีตพนักงานธนาคารพยานจำเลยเบิกความตอบถามค้านว่า ธนาคารจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายการสลักหลัง เพราะในกรณีนี้เป็นการใช้เงินผ่านธนาคารผู้เรียกเก็บดังกล่าวไป ต่างกับในกรณีมีผู้นำเช็คมาขึ้นเงินจากธนาคารด้วยตนเอง ซึ่งตามทางปฏิบัติธนาคารจะทำการตรวจสอบและเมื่อพบข้อบกพร่องก็จะไม่จ่ายเงิน เห็นว่า แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.ที. การท่องเที่ยว จะมีบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารจำเลย แต่บัญชีเงินฝากมิได้เกี่ยวโยงกับเช็คพิพาทไม่ปรากฏว่าพนักงานจำเลยทราบอยู่แล้วว่ามีบัญชีนั้นแล้วไม่ตรวจดูตราประทับและตัวอย่างลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนห้างฯผู้รับเงิน พนักงานจำเลยจึงอาจไม่ทราบก็ได้ ทั้งจำเลยก็นำสืบว่าสำหรับเช็คขีดคร่อมที่ส่งมาเรียกเก็บจากธนาคารอื่น เป็นหน้าที่ของธนาคารผู้รับเช็คที่จะตรวจสอบ มิใช่หน้าที่ของธนาคารจำเลยซึ่งใช้เงินผ่านธนาคารผู้รับเช็ค ตามพฤติการณ์จึงฟังไม่ได้ว่าธนาคารจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะโดยประมาทเลินเล่อตามฟ้อง ดังนั้น ธนาคารจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับผลตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.