คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้ยอมผูกพันตนเข้าทำสัญญากับโจทก์ซึ่งมีเงื่อนไขว่าเมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วจะเข้ารับราชการกับโจทก์รวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้ลาไปศึกษา จำเลยที่ 1 ได้ลาไปศึกษามีกำหนดเวลา3 ปี รวมเวลาสองเท่าที่จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการอยู่กับโจทก์เป็นเวลา 6 ปี แต่เมื่อจำเลยที่ 1สำเร็จการศึกษาแล้วได้รับราชการอยู่กับโจทก์เพียง 2 ปี4 เดือน ก็ลาออกจากราชการไปซึ่งไม่ครบกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาข้อ 4.1 ระบุว่าหากจำเลยที่ 1 ไปรับราชการในหน่วยงานอื่นโดยโจทก์มิได้ยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร แม้หน่วยงานนั้นจะรับไว้ก็ไม่ถือว่าเป็นไปตามความมุ่งหมายของสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ให้ไปรับราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามสัญญาและจะถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ทุนแล้วหาได้ไม่จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 ประกอบมาตรา 222วรรคหนึ่ง, มาตรา 368 หลังจากโจทก์อนุมัติให้ลาออกแล้ว จำเลยที่ 1ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่กับโจทก์ต่อมาอีก 4 เดือน โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คัดค้านหรือทักท้วงถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามปกติต่อมาอีกชั่วระยะเวลาหนึ่งอันเป็นเหตุบรรเทาค่าเสียหายลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ประกอบมาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งรับราชการในสังกัดของโจทก์ได้ลาไปศึกษาโดยได้รับเงินเดือนจากโจทก์เป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้จำเลยที่ 1 สัญญาว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะรับราชการหรือปฏิบัติราชการตามคำสั่งของโจทก์ ณ สำนักงานปลัดกระทรวงหรือส่วนราชการอื่นที่โจทก์เห็นชอบรวมเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเงินเดือนที่ทางราชการจ่ายให้ในระหว่างเวลาที่ได้ศึกษาแต่ให้หักเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติราชการไปแล้วบางส่วนออกโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่เมื่อจำเลยที่ 1สำเร็จการศึกษาแล้วได้เข้ารับราชการตามคำสั่งของโจทก์เพียง28 เดือน เท่านั้น ก็ลาออกเป็นการผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 224,578.33 บาทพร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการโดยไม่มีเงื่อนไข จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหาย หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ได้เข้ารับราชการใหม่ในหน่วยงานของรัฐ โดยปฏิบัติหน้าที่เช่นที่เคยปฏิบัติอยู่กับโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชดใช้ทุนตามสัญญามิได้ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์82,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2ชำระแทน
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 135,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1ได้ยอมผูกพันตนเข้าทำสัญญากับโจทก์ มีเงื่อนไขว่าเมื่อจำเลยที่ 1สำเร็จการศึกษาแล้วจะเข้ารับราชการกับโจทก์รวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ลาไปศึกษา จำเลยที่ 1 ได้ลาไปศึกษามีกำหนดเวลา 3 ปี รวมเวลาสองเท่าที่จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการอยู่กับโจทก์เป็นเวลา 6 ปี แต่เมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้วจำเลยที่ 1 ได้รับราชการอยู่กับโจทก์เพียง 2 ปี 4 เดือนก็ลาออกจากราชการไปซึ่งไม่ครบตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงไว้กับโจทก์จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา สำหรับค่าเสียหายนั้นจำเลยที่ 1ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ควรต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 4.1 ระบุว่าหากจำเลยที่ 1 ไปรับราชการในหน่วยงานอื่นโดยโจทก์มิได้ยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรแม้หน่วยงานนั้นจะรับไว้ก็ไม่ถือว่าเป็นไปตามความมุ่งหมายของสัญญา ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ให้ไปรับราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ และจะถือว่าจำเลยที่ 1ได้ชดใช้ทุนแล้วหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เต็มตามฟ้องโดยจะนำวันที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่อยู่หลังจากที่โจทก์อนุมัติให้ลาออกมาหักลดค่าเสียหายลงไม่ได้ เห็นว่าในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าหลังจากโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาออกแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่กับโจทก์ต่อมาอีก 4 เดือน โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คัดค้านหรือทักท้วงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามปกติต่อมาอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง อันเป็นเหตุบรรเทาค่าเสียหายลงได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายมานั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้วฎีกาโจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share