แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้มีชื่อซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยหลายคนได้จุดไฟเผาป่าที่แผ้วถางไว้โดยประมาท ทำให้เพลิงลุกลามไหม้ไร่อ้อยของโจทก์ ไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าลูกจ้างผู้มีชื่อจะเป็นใคร ชื่ออะไร ซึ่งเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบกันในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในวันชี้สองสถาน และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องแล้ว จำเลยไม่ได้คัดค้านเสียในขณะนั้น ว่าโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้จำเลยตามกำหนด ทั้งยังขอให้ศาลชั้นต้นเลื่อนการชี้สองสถานไปเพื่อจำเลยจะได้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องด้วยเท่ากับจำเลยให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แล้ว อ้อยที่โจทก์ปลูกในป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์เข้าไปยึดถือครอบครองโดยมิชอบเป็นทรัพย์ของโจทก์ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้มีทำให้อ้อยเสียหายได้ จำเลยจ้างคนงานมาปลูกป่า การที่คนงานจุดไฟเผาหญ้าและต้นไม้ที่แผ้วถางไว้ ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่จำเป็นในการปลูกป่าเป็นงานในทางการที่จ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างของจำเลยทั้งสามแผ้วถางป่าเพื่อปลูกป่าตามคำสั่งของจำเลยทั้งสามโดยประมาท ทำให้ไฟลุกลามไหม้ไร่อ้อยของโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้จ้างให้ผู้ใดเผาป่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะพื้นที่ที่โจทก์ปลูกอ้อยและถูกเพลิงไหม้เป็นป่าสงวนแห่งชาติซึ่งโจทก์บุกรุกเข้าครอบครองฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 82,800 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาแรกที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกามาโดยสรุปว่า ฟ้องโจทก์ก่อนขอแก้ไขเพิ่มเติมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้แสดงโดยแจ้งชัดถึงสถานที่เกิดเหตุว่าอยู่ที่ใด ลูกจ้างคนใดของจำเลยที่ 3 กระทำละเมิดโดยประมาทอย่างไร และโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยที่ 3 ไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนถึงกำหนดนัดจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านไว้แล้ว ศาลจึงไม่ควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์ก่อนแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องพอเข้าใจได้ว่าเหตุเกิดที่ตำบลหนองแสง กิ่งอำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ให้ลูกจ้างจุดไฟเผาป่าตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้เพลิงลุกลามไปไหม้ไร่อ้อยของโจทก์ สำหรับที่ฎีกาว่า โจทก์มิได้ระบุมาในคำฟ้องว่าลูกจ้างคนใดกระทำละเมิดโดยประมาทอย่างไรนั้นเห็นว่า ฟ้องได้บรรยายไว้แล้วว่า ผู้มีชื่อซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยหลายคนได้จุดไฟเผาป่าที่แผ้วถางไว้โดยประมาท ปราศจากความระมัดระวังทำให้เพลิงลุกลามไหม้ไร่อ้อยของโจทก์ ส่วนลูกจ้างผู้มีชื่อจะเป็นใครชื่ออะไรไม่จำเป็นต้องบรรยายไว้ในฟ้องก็ได้ เพราะเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบกันในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ก่อนแก้ไขเพิ่มเติมจึงไม่เคลือบคลุม ส่วนที่ฎีกาว่า โจทก์มิได้ส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้แก่จำเลยที่ 3 ตามกำหนด ศาลชั้นต้นจึงไม่ควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น ก็ได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 ว่า เมื่อจำเลยที่ 3ได้รับสำเนาคำร้องดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 3 แถลงคัดค้านเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องข้อ 1 ว่า เป็นการเพิ่มเติมตัวจำเลยที่ 2ขึ้นมาเท่านั้น ส่วนที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องข้ออื่น ๆ ตลอดจนเรื่องไม่ส่งสำเนาคำร้อง จำเลยที่ 3 ไม่ได้คัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเฉพาะฟ้องข้อ 1 ที่จำเลยที่ 3คัดค้านเท่านั้น นอกนั้นอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด นอกจากจำเลยที่ 3 จะไม่คัดค้านคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นเสียในตอนนั้นแล้ว จำเลยที่ 3 ยังขอให้ศาลชั้นต้นเลื่อนการชี้สองสถานไปเพื่อจำเลยที่ 3 จะได้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องด้วย ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3มิได้คัดค้านว่าโจทก์มิได้ส่งสำเนาคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้แก่จำเลยที่ 3 ตามกำหนดเสียในตอนนั้น เท่ากับจำเลยที่ 3 ให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ชอบแล้วจำเลยที่ 3 ยกเอาเหตุนี้ขึ้นมาคัดค้านในภายหลังอีกไม่ได้
สำหรับปัญหาฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2526 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2527เกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ เห็นว่า แม้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2527 จะเป็นวันครบกำหนด 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกา แต่ปรากฎว่าวันดังกล่าวตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2527 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 161 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน1 ปีแล้ว ดังนี้ โจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อไรจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
ส่วนปัญหาจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาปฏิเสธความรับผิดมาหลายประการด้วยกันประการแรกจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์เข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติโดยมิชอบ จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาผลประโยชน์หรือค่าเสียหายอันเกิดแก่พืชไร่ที่โจทก์ปลูกไว้ในที่ดินดังกล่าว และโจทก์ไม่มีโควต้าส่งอ้อยให้โรงงานจึงขายอ้อยไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงหาเหตุมาเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 3 เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เห็นว่า จำเลยที่ 3นำสืบรับแล้วว่า ต้นอ้อยที่ถูกเพลิงไหม้เป็นต้นอ้อยที่โจทก์ปลูกไว้ดังนี้ แม้ที่ดินที่โจทก์ปลูกอ้อยจะเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์เข้าไปยึดถือครอบครองโดยไม่ชอบก็ตาม อ้อยดังกล่าวก็ยังเป็นทรัพย์ของโจทก์เมื่อมีบุคคลอื่นมาทำให้อ้อยที่โจทก์ปลูกไว้เสียหายย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้มาทำละเมิดได้ ส่วนที่จำเลยที่ 3ฎีกาอ้างว่า โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ที่เพลิงลุกลามไหม้ไร่อ้อยของโจทก์เกิดจากการกระทำของคนงานที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องวินิจฉัยกันในข้อต่อไปส่วนที่โจทก์จะมีโควต้าขายอ้อยให้แก่โรงงานหรือไม่ ลำพังแต่เหตุนี้จะฟังว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาปฏิเสธความรับผิดมาในประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 3 จ้างคนงานมาให้ปลูกป่า มิได้ให้มาเผาป่า การที่คนงานจุดไฟเผาป่าจึงมิใช่การกระทำในทางการที่จ้าง เห็นว่า การปลูกป่าจำเป็นต้องแผ้วถางก่อนเมื่อแผ้วถางแล้วก็ต้องเผาหญ้าและต้นไม้ที่แผ้วถาง เมื่อให้พื้นที่เตียนจะได้ปลูกป่าต่อไป การที่คนงานของจำเลยที่ 3 จุดไฟเผาหญ้าและต้นไม้ที่แผ้วถางไว้ จึงเป็นงานในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 3จะยกเอาเหตุดังกล่าวมาปัดความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 3ต้องรบผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน