คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยเสมียนยานพาหนะจังหวัดเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการไม่ได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 จึงไม่อาจจะมีผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานสนับสนุนความผิดดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 147, 157, 161, 162, 264, 265 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 83, 147, 161 ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 147, 161 ประกอบด้วยมาตรา 86 ข้อหาความผิดอื่นให้ยก เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองในข้อหาตามมาตรา 157, 264 และ 265 แล้วโจทก์มิได้อุทธรณ์จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ฝ่ายเดียว และศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามมาตรา 147 และ 161 จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตามมาตรา 161 ก็จะยกข้อหาตามมาตรา 157, 264 และ 265 ซึ่งยุติไปแล้วขึ้นวินิจฉัยอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กำกับตำรวจภูธร จังหวัดชัยภูมิ และเป็นนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชัยภูมิ มีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนรถยนต์ ทำหรือกรอกข้อความลงในเอกสารใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ เก็บรักษาเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ช่วยเสมียนยานพาหนะจังหวัดชัยภูมิ มีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนรถยนต์ตลอดทั้งหน้าที่ต่าง ๆ เช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือ ก. เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๑๙ เวลากลางวัน จำเลยได้ร่วมกันรับจดทะเบียนรถยนต์ประเภทออมนิบัสรับจ้างพิเศษให้แก่บริษัทสุรนารีทรานสปอร์ จำกัด ๑๐ คัน ด้วยการกรอกและให้ผู้อื่นกรอกข้อความลงในใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ ๑๐ ฉบับ และได้ออกหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของจังหวัดชัยภูมิรวม ๑๐ หมายเลขให้แก่บริษัทสุรนารีทรานสปอร์ต จำกัด โดยจำเลยที่ ๑ ได้ลงลายมือชื่อในช่องนายทะเบียนในใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ทั้ง ๑๐ ฉบับ เพื่อให้เป็นหลักฐานว่าได้รับจดทะเบียนรถยนต์ทั้ง ๑๐ คัน โดยรถทั้ง ๑๐ คันได้เสียค่าภาษีและค่าธรรมเนียมแล้วโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งตามระเบียบแล้วจำเลยทั้งสองจะรับจดทะเบียนรถทั้ง ๑๖ คันไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดเห็นว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ข. ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันรับเงินค่าภาษีค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์จากบริษัทสุรนารีทรานสปอร์ต จำกัด ผู้ขอจดทะเบียนรถยนต์ทั้ง ๑๐ คัน เป็นเงิน ๒๑,๗๕๐ บาท และได้รับค่าธรรมเนียมป้ายรถยนต์จำนวน ๑๐ คัน เป็นเงิน ๕๐๐ บาท แล้วบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทสุรนารีทรานสปอร์ต จำกัด กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๑๔๗, ๑๕๗, ๑๖๑, ๑๖๒, ๒๖๔, ๒๖๕ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓, ๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ข้อ ๒ และนับโทษต่อจากโทษจำเลยแต่ละคนในคดีที่ขอนับโทษต่อ ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ๒๒,๒๕๐ บาท แก่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ กรมตำรวจ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีตามที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๑๔๗, ๑๖๑ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมตามมาตรา ๙๑ ความผิดตามมาตรา ๑๔๗ ลงโทษจำคุก ๕ ปี ความผิดตามมาตรา ๑๖๑ ลงโทษจำคุก ๑ ปี รวม ๒ กระทง เป็นจำคุก ๖ ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๔ ปี ๖ เดือน จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามมาตรา ๑๔๗, ๑๖๑ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมตามมาตรา ๙๑ ความผิดตามมาตรา ๑๔๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ ลงโทษจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน ความผิดตามมาตรา ๑๖๑ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ ลงโทษจำคุก ๘ เดือน รวม ๒ กระทงคงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๔ ปี นับโทษจำเลยที่ ๒ ต่อจากโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๖๑๖/๒๕๒๔, ๘๗๐/๒๕๒๔, ๙๑๖/๒๕๒๔, ๑๑๕๐/๒๕๒๔, ๑๒๓๐/๒๕๒๔, ๒๙๒/๒๕๒๔, ๑๔๗๘/๒๕๒๔ และ ๑๔๘๐/๒๕๒๔ ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินภาษี ๒๑,๗๕๐ บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาความผิดและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิดฐานยักยอกและฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ และมาตรา ๑๖๑ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ในข้อหาทั้งสองนี้ด้วย จำเลยที่ ๒ ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา ๑๖๑ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ในข้อหานี้ด้วย คงลงโทษจำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานยักยอก มาตรา ๑๔๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ จำคุก ๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ รับราชการในตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ เป้นนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชัยภูมิ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดชัยภูมิ หน้าที่เสมียนทะเบียนยานพาหนะประเภทล้อเลื่อน เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ นายอนามัย เทียนชัย ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรถยนต์ ๑๐ คัน เป็นรถประเภทออมนิบัส โดยยื่นต่อจำเลยที่ ๒ ที่แผนกยานพาหนะ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดชัยภูมิ พร้อมทั้งได้จ่ายเงินค่าภาษีทะเบียนรถเป็นเงิน ๒๑,๗๕๐ บาท กับค่าธรรมเนียมป้ายรถยนต์เป็นเงิน ๕๐๐ บาท แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ได้รวบรวมเรื่องราวนำเสนอต่อจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ได้ลงชื่อในช่องนายทะเบียนในใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ทั้ง ๑๐ คัน จนเรียบร้อยและมอบให้แก่นายอนามัยไปแล้ว จำเลยที่ ๒ ได้เบียดบังยักยอกเอาเงินค่าภาษีรถยนต์ทั้ง ๑๐ คันไป ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๐ นายอนามัยได้ขอเสียภาษีรถยนต์ทั้ง ๑๐ คัน และปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการทุจริตในแผนกทะเบียนยานพาหนะ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดชัยภูมิ และคณะกรรมการดังกล่าวตรวจพบว่า รถทั้ง ๑๐ คันดังกล่าวได้จดทะเบียนไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้รับการตรวจสภาพจากกรมการขนส่งทางบก และผู้ขอไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งมาก่อน เชื่อว่าใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ทั้ง ๑๐ คันเป็นทะเบียนปลอมและมีการยักยอกค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จึงได้มีการสอบสวนและดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสอง
มีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๖๑, ๘๓ หรือไม่ จำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนความผิดตามมาตรา ๑๖๑ หรือไม่ และถ้าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้วจะพิจารณาความผิดของจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๒๖๔ และ ๒๖๕ และจำเลยที่ ๒ ผิดตามมาตรา ๑๕๗, ๒๖๔, ๒๖๕ ประกอบมาตรา ๘๖ หรือไม่
ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๑ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ และ ๑๖๑ หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้กระทำผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยที่ ๒ จะมีความผิดฐานสนับสนุนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑ หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวการไม่ได้กระทำผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่อาจจะมีผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดได้ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว
สำหรับในปัญหาที่ว่า จะต้องพิจารณาความผิดของจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๒๖๔ และ ๒๖๕ หรือไม่ และจำเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๑๕๗, ๒๖๔, ๒๖๕ ประกอบมาตรา ๘๖ หรือไม่นั้นเห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๗, ๒๖๔ และ ๒๖๕ แล้วโจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีในข้อหาดังกล่าวนี้จึงยุติไปแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยคดีข้อหาเหล่านี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share